ผู้บริหารจังหวัดในภาคตะวันออกร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ปัญหาช้างป่าบุกรุกที่ทำกิน
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ที่ศาลากลางจังหวัดระยอง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประชุมหารือร่วมกันของผู้บริหารในจังหวัดภาคตะวันออกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต่อการจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาช้างป่าที่ออกนอกแนวเขตป่าอนุรักษ์ เข้าทำลายพื้นที่เพาะปลูก บ้านเรือน และร่างกายประชาชน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้มอบหมายให้ นายอนันต์ นาคนิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นผู้แทนจังหวัดระยองเข้าร่วมประชุม

หารือข้อเสนอและปัญหาอุปสรรคร่วมกัน รายงานไปยังรัฐบาล

นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นประธานในการประชุมในครั้งนี้กล่าวว่า การประชุมวันนี้จะเป็นการสรุปข้อมูลแนวทางร่วมกันถึงความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา รวมถึงกำหนดขอบเขตพื้นที่อาศัยของช้างป่าและการเยียวยาประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ยังคงพบความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง โดย กสม.จะทำรายงานสรุปทั้งข้อเสนอและปัญหาอุปสรรครายงานไปยังรัฐบาล

ปัญหาช้างป่าแก้ไม่ง่าย ต้องร่วมกันหาทางออก

นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวในที่ประชุมว่า ปัจจุบันมีช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ประมาณ 4,000 ตัว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งปัญหาหนึ่งที่ทำให้ยากต่อการแก้ไข คือ ช้างป่าสามารถปรับตัวต่อแนวกันช้างในรูปแบบต่างได้ๆ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้หารือกับกรรมาธิการแก้ปัญหาช้างป่ามาหลายครั้ง แต่ยังคงมีปัญหาด้านการทำโครงสร้างวิศวกรรมในการสร้างแนวป้องกันช้างป่า และยังถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องงบประมาณและความสอดคล้องกับระบบนิเวศมาโดยตลอด ยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวนี้แก้ไม่ง่ายต้องหาแนวทางแก้ไขร่วมกันทุกภาคส่วน
 
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นเรื่องสืบเนื่องมากจากเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ปัญหาช้างป่า สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาว่า ปัจจุบันช้างป่าจากเขตอุทยานแห่งชาติ รวมถึงป่าในความดูแลของหน่วยงานรัฐ ได้ออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตร ทรัพย์สิน ร่างกาย และชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่มีมาตรการป้องกันหรือแนวทางการแก้ปัญหาเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าอย่างเป็นรูปธรรม จนก่อให้เกิดความขัดแย้งหลายฝ่าย คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ปัญหาช้างป่า สภาผู้แทนราษฎร จึงได้มีหนังสือขอให้ กสม.เข้ามาดำเนินการตามหน้าที่หรืออำนาจที่มี เพื่อให้เกิดข้อเสนอแนะในเชิงระบบไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้องต่อไป

image รูปภาพ
image
image
นายอนันต์ นาคนิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง
นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar