แก้ปัญหาการฉ้อโกงออนไลน์ด้วยการรู้เท่าทันและกฎหมาย

ปัจจุบันปัญหาการฉ้อโกงออนไลน์ในสังคมไทยนับเป็นภัยใกล้ตัวที่รัฐบาลมีความห่วงใย โดยข้อมูลจากศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com เปิดเผยตัวเลขการแจ้งความคดีออนไลน์ในช่วงเดือน มี.ค.- ก.ค. 65 รวม 59,846 เรื่อง เป็นการหลอกลวงด้านการเงินมากที่สุด รองลงมาเป็นการหลอกจำหน่ายสินค้า และพนันออนไลน์ สามารถอายัดบัญชีได้กว่า 121 ล้านบาท ทั้งนี้จากการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องพบว่าปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้น


        กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) อยู่ระหว่างจัดทำร่าง พ.ร.ก. (พระราชกำหนด) มาตรการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงทางออนไลน์ พ.ศ.... โดยจะเร่งจัดทำให้แล้วเสร็จและเสนอให้กับ ครม.พิจารณาอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันตัดวงจรหลอกลวงการฉ้อโกงออนไลน์ ให้ลดน้อยลงอย่างเร็วที่สุด โดยระหว่างนี้ได้มอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างความตระหนักรู้และรู้เท่าทันภัยการโกงออนไลน์ทุกรูปแบบ

 

การดำเนินงานที่สำคัญของรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงทางออนไลน์ 

1.    กระทรวงดิจิทัลฯ จัดทำร่าง พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงทางออนไลน์ พ.ศ..... โดยมีบทลงโทษการซื้อขายบัญชีม้า (หรือบัญชีธนาคารที่คนร้ายซื้อมาเพื่อใช้รับโอนเงินของเหยื่อ) การโฆษณาซื้อขายบัญชีม้า  การให้ธนาคารสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ เพื่อป้องกันความเสียหายแก่ประชาชนตัดวงจรอาชญากรรมฉ้อโกงออนไลน์ก่อนกระทบในวงกว้าง 
2.    กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ยกระดับการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” โดยกระทรวงดิจิทัลได้ลงนามความร่วมกับกับธนาคารกรุงไทย เมื่อวันที่         8 ธ.ค. 65 ประชาชนสามารถรับทราบรูปแบบการฉ้อโกงทางออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ  ผ่านแอปเป๋าตัง ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านคนทั่วประเทศ
3.    ธนาคารแห่งประเทศไทย  ออกแนวนโยบายเพิ่มเติม กำหนดให้ธนาคารมีการตรวจสอบชื่อเจ้าของเบอร์โทรศัพท์และชื่อบัญชีเงินฝากให้ตรงกัน รวมทั้งให้ mobile banking  ใช้งานได้ 1 หมายเลขโทรศัพท์ ต่อ 1 อุปกรณ์ 
4.    สมาคมธนาคารไทย ป้องกันการหลอกโอนเงินผ่าน Remote Control Application ของคนร้าย และมีการแจ้งเตือนลูกค้าผ่าน mobile banking อย่างต่อเนื่อง
5.    สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จัดการแก้ไขปัญหาการรับจ้างเปิดบัญชีม้า โดยแจ้งข้อมูลบัญชีม้าผ่านระบบให้ธนาคารจัดการในกรณีที่เป็นบัญชีผิดกฎหมาย และคาดว่าจะปิดบัญชีม้า ได้ 7,000 - 10,000 บัญชีใน 1 เดือน
6.    สำนักงาน กสทช. ดำเนินการจัดการผู้ครอบครองซิมโทรศัพท์จำนวนมากและไม่ลงทะเบียนยืนยันตัวตนตามระบบหากไม่มายืนยันให้ถูกต้องจะถูกระงับการให้บริการ เพื่อป้องกันการนำ SIM ไปใช้ทำผิดกฎหมาย

โครงการครูวัคซีนไซเบอร์ “รู้เท่าทันกลโกง”

    สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดการอบรมโครงการสร้างภาคีเครือข่ายป้องกันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แบ่งเป็น 2 ระดับ 
ระดับที่ 1 การสร้างครูวัคซีนไซเบอร์ (ครูแม่ไก่) เพื่อไปถ่ายทอดความรู้ต่อให้กับ เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ / เจ้าหน้าที่ภาครัฐ/เจ้าหน้าที่ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ให้เกิดความตระหนักรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกงและเกิดความปลอดภัยจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทั้งนี้ มีผู้เข้ารับการอบรมจาก กองบัญชาการตำรวจนครบาล, ตำรวจภูธรภาค 1-9 หน่วยละ 11 นาย , กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 6 นาย รวมจำนวนทั้งสิ้นรวม 116 นาย    
ระดับที่ 2 ครูวัคซีนไซเบอร์ (ครูแม่ไก่) จำนวน 116 นาย ไปจัดฝึกอบรม ให้กับผู้รับการอบรม ในระดับที่ 2 พื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ อีก 33 รุ่น จำนวน 4,468 คน เพื่อนำเอาความรู้ไปต่อยอด ถึง ครู-อาจารย์ ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ข้าราชการ ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้สื่อข่าว นักจัดรายการวิทยุ นักประชาสัมพันธ์ หรือผู้นำชุมชนในพื้นที่ ให้เกิดองค์ความรู้ที่สามารถนำไปประชาสัมพันธ์ สื่อสารต่อคนอื่นๆ สร้างเครือข่ายการทำงาน รับรู้ถึงกลโกงหรือวิธีการ ของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในการใช้กลอุบายเพื่อหลอกลวงให้หลงเชื่อ เพื่อเผยแพร่มาตรการป้องกันในรูปแบบต่าง ๆ ให้ประชาชนตระหนักรู้ ในการระวังป้องกันตนเอง ไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการเข้าถึงสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ในการป้องกันระมัดระวังตนเองและตระหนักรู้ภัยคุกคามดังกล่าว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


18 กลโกงมิจฉาชีพ ใช้หลอกลวงเหยื่อบนโลกออนไลน์

1.    หลอกขายสินค้าออนไลน์ แต่ไม่ได้รับสินค้า /หรือได้รับสินค้าแต่ไม่ตรงตามโฆษณา
2.    หลอกให้ทำงานเสริมออนไลน์ โดยชักชวนทำงานออนไลน์ที่ไม่มีอยู่จริง อ้างแพลตฟอร์ม ที่น่าเชื่อถือ เช่น TikTok YouTube Lazada เป็นต้น โดยหลอกลวงให้ กด LIKE กด SHARE เพื่อเพิ่มยอดวิว แกล้งรับออเดอร์ ทำสต็อกสินค้า แต่สุดท้าย หลอกเอาเงินที่อ้างว่าเป็นเงินค้ำประกันจากเหยื่อ
3.    เงินกู้ออนไลน์ (เงินกู้ทิพย์) ไม่ได้เงินจริง หลอกเอาข้อมูลเงินค้ำประกัน ค่าธรรมเนียม เลขที่บัญชีธนาคารจากเหยื่อ  (ดอกเบี้ยโหด) โฆษณาชวนเชื่อ กู้โดยไม่ต้องมีหลักค้ำประกัน หลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคลในโทรศัพท์ของเหยื่อ เพื่อโทรตามทวงหนี้คนใกล้ชิด เรียกดอกเบี้ยโหด และให้ใช้ชดใช้หนี้ไม่มีหมด
4.    ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว (Call Center) โทรศัพท์มุ่งเป้าหาเหยื่อ โดยแจ้งว่า ท่านเกี่ยวข้องกับการส่งพัสดุผิดกฎหมาย  การกระทำผิดกฎหมาย หรือโดนอายัดบัญชีธมาคาร แล้วอ้างเป็นตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ข่มขู่เรื่องกฎหมายฟอกเงิน ให้ท่านเหยื่อ โอนเงินโดยพลการ
5.    หลอกลวงให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ โดยอ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีจริง ให้ผลตอบแทนสูง สร้างภาพความน่าเชื่อถือ เช่น ลงทุนในธุรกิจน้ำมัน พลังงาน ทองคำ เงินดิจิทัล ตลาดหุ้น Forex ตลาดหลักทรัพย์ต่างชาติ  เกมออนไลน์ เป็นต้น
6.    หลอกให้รักแล้วลงทุน โดยปลอมแปลง PROFILE เป็นบุคคลหน้าตาดี เข้ามาตีสนิทจาก APP หาคู่ หรือ บัญชีออนไลน์  สอนให้ลงทุน แล้วหลอกให้ลงทุนใน APP หรือโปรแกรมลงทุนปลอม เช่น เทรดหุ้นปลอม เงินดิจิทัลปลอม สกุลเงินปลอม ทองคำทิพย์ เป็นต้น
7.    หลอกให้รักแล้วโอนเงิน หรือ ยืมเงินโดยปลอม PROFILE เป็นบุคคลหน้าตาดี ทำความรู้จักผ่านบัญชีออนไลน์ ตีสนิทหลอกให้รัก ทำทีจะส่งทรัพย์สินมาให้จากต่างประเทศแต่สุดท้ายลวงเอาเงินค่าธรรรมเนียมต่าง ๆ หรือ หลอกให้โอนเงิน โดยอ้างว่าจะคืนให้หลายเท่าตัว
8.    ปลอม หรือ แฮ็กบัญชี LINE / Facebook แล้วมาหลอกยืมเงิน เพื่อให้ส่งข้อความขอยืมเงินจากเพื่อนเจ้าของบัญชีตัวจริงที่หลงเชื่อ
9.    แชร์ลูกโซ่ โดยหลอกให้ร่วมลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีอยู่จริง เน้นให้เสาะหาเครือข่าย สร้างรายได้จากการเพิ่มสมาชิก
10.    การพนันออนไลน์ โดยโฆษณาชวนเชื่อ หว่านล้อมด้วยวิธีการต่าง ๆ ให้ค่าน้ำ (ค่าเสียเวลา) คืนให้แก่ผู้เล่น และแจกสูตรการันตีผลตอบแทนที่ไม่มีจริง
11.    หลอกให้โหลดโปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์ทางไกล (เพื่อขโมยข้อมูล) โดยอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หลอกให้ใหลดโปรแกรมควบคุมทางไกล เพื่อถอนเงินจากบัญชีของเหยื่อ
12.    ส่ง QR Code หลอกให้โอนเงิน โดยคนร้ายอ้างว่า จะคืนค่าสินค้า โดยหลอกให้เหยื่อสแกน QR Code ซึ่งเป็นการโอนเงินให้แก่คนร้าย บางกรณี จะเป็นการให้กรอกข้อมูลบัญชีธนาคารของท่าน และรหัสผ่านเพื่อขโมยเงินของเหยื่อ
13.    ฉ้อโกงรูปแบบอื่น โดยหลอกลวงด้วยเรื่องราวต่าง ๆ ให้ท่านโอนเงินให้คนร้าย เช่น ผู้โชคดีได้รับรางวัล ได้ซื้อสินค้าราคาพิเศษ ได้โรงแรมที่พักฟรี ได้สิทธิ์พิเศษต่าง ๆ เป็นต้น แต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมก่อนล่วงหน้าให้คนร้าย ซึ่งแอบอ้างเป็นหน่วยงาน เช่น ธนาคาร การไปรษณีย์ กรมศุลกากร เป็นต้น โดยส่งลิงก์ปลอม เพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล ขโมยเลขที่บัญชีธนาคาร รหัส Password เป็นต้น
14.    โฆษณาเชิญชวนไปทำงานต่างประเทศ โดยหลอกให้หลบหนีออกนอกประเทศ บังคับกักขังให้ทำงานผิดกฎหมาย ใช้แรงงานเยี่ยงทาส
15.    หลอกลวงให้ถ่ายภาพโป๊เปลือย ลามก อนาจาร เพื่อใช้ข่มขู่เรียกเงินจากเหยื่อ
16.    ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) และร่วมกันกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ฟอกเงิน
17.    ข่าวปลอม (Fake News) ซึ่งแชร์ข่าวจากแหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ข้อความลูกโซ่ที่ส่งต่อกันทางไลน์ เป็นต้น
18.    เรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ (Ransomware) Lock รหัส Files Folders ในคอมพิวเตอร์เพื่อใช้เรียกเงินจากเหยื่อ

    สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตั้งศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ หรือแจ้งเบาะแสได้ที่ เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com สอบถาม 1441 หรือ 081-866-3000


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar