“โครงการชุมชนไม้มีค่า” เฟสแรก ใช้ไม้ยืนต้น เป็นหลักประกัน 1.43 แสนต้น

นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.61 ครม.ได้มีมติเห็นชอบการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า โดยมีเป้าหมายระยะ 10 ปี เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน 2.6 ล้านครัวเรือน ด้วยการปลูกไม้มีค่าครัวเรือนละ 400 ต้น เพื่อให้มีผลต้นไม้ 1,040 ล้านต้น ได้พื้นป่าเพิ่มขึ้น 26 ล้านไร่ อันก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1,040 ล้านบาท เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเอง โดยกำหนดให้ต้นไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้


ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจคืออะไร

คือ ไม้ยืนต้นทุกชนิด รวมถึงไผ่ที่ปลูกหรือขึ้นเองตามธรรมชาติและอยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์ที่มีการใช้ประโยชน์เนื้อไม้ และ/หรือผลิตผลอื่น  ที่ไม่ใช่เนื้อไม้เพื่อการค้า เป็นไม้ที่สามารถนำมาสร้างมูลค่า หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมทั้งให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ผู้ปลูก เช่น ไม้ฟืน ไม้ใช้สอย ไม้ก่อสร้าง ไม้เพื่อพืชอาหาร เป็นต้น 
นอกจานี้ ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ยังสามารถนำมาเป็นหลักประกัน ทางธุรกิจ โดยรัฐบาลได้กำหนดให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสามารถใช้เป็นทรัพย์สินเพื่อเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้โดยสามารถนำมาค้ำประกันการกู้ยืมเงิน หรือขอสินเชื่อได้ 


ไม้เศรษฐกิจที่น่าสนใจในแต่ละภาค

•    ภาคเหนือ สัก ประดู่ป่า ตะเคียนทอง พะยูง แดง ยางนา
•    ภาคอีสาน พะยูง ประดู่ป่า ยางนา ตะเคียนทอง สัก
•    ภาคกลาง ภาคตะวันตก และ ภาคตะวันออก ยางนา ตะเคียนทอง ประดู่ป่า พะยอม สัก กฤษณา
•    ภาคใต้ ไม้วงศ์ยาง ยางพารา ตะเคียนทอง จำปาป่า หลุมพอ สะเดาเทียม กันเกรา

โครงการชุมชนไม้มีค่า ระยะที่ 1 (พ.ศ.2562 - 2564) 

ผลความคืบหน้าการขับเคลื่อนของหน่วยงานต่าง ๆ โดยใช้ 5 กลไกหลักในการขับเคลื่อน สาระสำคัญ ดังนี้

1.การปลดล็อกกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง 
1) กรมป่าไม้ออกพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 7 ปลดล็อกปลูกไม้หวงห้าม และใช้ประโยชน์จากไม้หวงห้ามในที่ดินกรรมสิทธิ์ได้แล้ว (บังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 17 เม.ย. 62)
2) จัดทำระเบียบคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขออนุญาต และการอนุญาตให้ทำการปลูกสร้างสวนป่า หรือปลูกไม้ยืนต้นในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2565 
3) ผลักดันการลดภาษีและยกเว้นภาษีสำหรับไม้ ไม้แปรรูปและของทำด้วยไม้
2. การเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์กล้าไม้มีค่าทางเศรษฐกิจสูง อาทิ กรมป่าไม้ทำการเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์กล้าไม้มีค่าทางเศรษฐกิจแจกจ่ายให้ประชาชนทั่วไป และได้จัดทาเรือนเพาะชำกล้าไม้ชุมชน
3. การวิจัยเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนงบประมาณ เพื่อสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 
4. การขยายผลในพื้นที่ทั่วประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ขยายผลและสื่อสารสร้างการรับรู้และเข้าใจมีชุมชนเข้าร่วมโครงการผ่านกิจกรรมป่าครอบครัว 1,218 ราย  ในพื้นที่ 15,123 ไร่ สามารถดำเนินการชุมชนไม้มีค่า คิดเป็นมูลค่า 227.74 ล้านบาท และการใช้ประโยชน์ทางอ้อมผ่านการประเมินมูลค่าระบบนิเวศสะสม พ.ศ.2562-2564 คิดเป็นมูลค่า 1,202.38 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 1,430.12 ล้านบาท
5. การประเมินมูลค่าการตลาดและแปรรูป ดำเนินการโดย ธ.ก.ส.เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มชุมชนไม้มีค่า ให้มีรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากต้นไม้และป่าไม้ประมาณ 90 ล้านบาท รวมทั้งสนับสนุนชุมชนไม้มีค่า  ในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังได้สนับสนุนเกษตรกรในการใช้ต้นไม้เป็นหลักประกัน 


ทั้งนี้ ยังมีผลการดำเนินงานขับเคลื่อนผ่านกลไกอื่น ๆ อาทิ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีการจดทะเบียนการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกัน ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.2562  ถึง 31 ธ.ค.2564 จำนวน 1.43 แสนต้น จำนวนเงินค้ำประกัน 136.83 ล้านบาท รวมไปถึงความสำเร็จจากการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้เพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยเฉพาะในส่วนป่าเศรษฐกิจ ประมาณ 1.07 แสนไร่ สร้างความสมดุลของระบบนิเวศในพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ และสามารถลดจำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย 


    อย่างไรก็ตาม โครงการชุมชนไม้มีค่า ระยะที่ 2 (พ.ศ.2565-2567) คาดว่าจะเกิดชุมชนไม้มีค่าเพิ่มขึ้น 4,969 ชุมชน ประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์ 4,650 ครัวเรือน มีต้นไม้เพิ่มขึ้น 60 ล้านต้น และ มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 14,040 ไร่
 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar