สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้และแนวทาง การบริหารจัดการน้ำ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ ที่ จ.สงขลา และพัทลุง ซึ่งเป็น 2 ใน 9 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ตั้งแต่วันที่ 18-19 ธ.ค. 65 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ และลมกระโชกแรง นายกฯ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปฟื้นฟูและเยียวยา รวมถึงหามาตรการช่วยเหลือหลังจากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติให้รวดเร็วที่สุด

สาเหตุน้ำท่วมภาคใต้

    กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า จากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ส่งผลให้ภาคใต้ตอนล่าง (จังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา) มีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงในช่วงวันที่ 18-19 ธ.ค. 65 สูงสุดที่ จ.นราธิวาส (466 มม.) จ.ปัตตานี (412 มม.) และ จ.สงขลา (411 มม.) ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมสูงในเวลาอันรวดเร็ว และเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง

สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ 9 จังหวัด รวม 66 อำเภอ 271 ตำบล มีประชาชนได้รับผลกระทบ 64,626 ครัวเรือน ซึ่งขณะนี้ยังมีสถานการณ์น้ำใน 7 จังหวัด ดังนี้ 
1. สุราษฎร์ธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพุนพิน อำเภอท่าชนะ อำเภอไชยา อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอดอนสัก และอำเภอท่าฉาง 
2. นครศรีธรรมราช น้ำท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปากพนัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอสิชล อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอชะอวด และอำเภอพระพรหม 
3. พัทลุง น้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอตะโหมด อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอกงหรา อำเภอเขาชัยสน อำเภอปากพะยูน อำเภอป่าบอน อำเภอบางแก้ว อำเภอเมืองพัทลุง และอำเภอควนขนุน 
4. สงขลา น้ำท่วมในพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสงขลา อำเภอรัตภูมิ อำเภอควนเนียง อำเภอหาดใหญ่ อำเภอนาหม่อม อำเภอจะนะ อำเภอบางกล่ำ อำเภอระโนด อำเภอคลอหอยโข่ง อำเภอสิงหนคร อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอสะทิงพระ และอำเภอเทพา 
5. ปัตตานี น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอกะพ้อ และอำเภอยะหริ่ง 
6. ยะลา น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต อำเภอรามัน อำเภอยะหา อำเภอเมืองยะลา อำเภอกรงปีนัง 
7. นราธิวาส น้ำท่วมในพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสุคิริน อำเภอศรีสาคร อำเภอรือเสาะ อำเภอระแงะ อำเภอจะแนะ อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอสุไหงปาดี อำเภอบาเจาะ อำเภอแว้ง อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอตากใบ และอำเภอยี่งอ 
 
สำหรับการให้ความช่วยเหลือประชาชน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งระบายน้ำท่วมและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายกฯได้กำชับหน่วยงานทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกันเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัย แก้ไขคลี่คลายสถานการณ์ตามแผนการช่วยเหลือ ให้จัดกำลังทหารสนับสนุนส่วนราชการท้องถิ่นดูแลประชาชนที่ศูนย์อพยพชั่วคราว โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำท่วม ช่วยขนย้ายคนและสิ่งของจำเป็นไปยังพื้นที่ปลอดภัย ช่วยรับส่งประชาชน รวมทั้งร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ 
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับ แจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และการสัญจรผ่านสายด่วนกรมทางหลวงชนบท 1146

ภาพรวมการบริหารสถานการณ์น้ำในพื้นที่อื่น ๆ

ด้านพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เตรียมเสนอ 5 โครงการบริหารจัดการน้ำในหลายพื้นที่ดังนี้
      - โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง มีแผนการดำเนินงาน 6 ปี (พ.ศ.2567-2572) เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มอัตราการระบายน้ำจากเดิม 210 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เป็น 400 ลบ.ม.ต่อวินาที สามารถป้องกันและลดปัญหาน้ำท่วมได้ 276,000 ไร่
     - โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก มีแผนการดำเนินงาน 4 ปี (พ.ศ.2568-2571) เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มการระบายน้ำในพื้นที่ตอนบนผ่านโครงข่ายคลองในแนวเหนือ-ใต้ได้อีก 150 ลบ.ม./วินาที  และสามารถเพิ่มศักยภาพในการเก็บกักน้ำและระบายน้ำของแก้มลิงคลองมหาชัย คลองสนามชัย
     - โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถระบายน้ำสูงสุด 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 
      - โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของ กทม.ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ระยะเร่งด่วน) โดยเป็นการดำเนินการปรับปรุงระบบสูบน้ำ ระบบไฟฟ้า และระบบเก็บขยะ สถานีสูบน้ำพระโขนง และการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กบริเวณคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขาต่าง ๆ เพื่อเสริมประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ 
      - โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาพังงา-ภูเก็ต โดยการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบและกำลังการผลิตน้ำประปาและระบบท่อจ่ายน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้ กปภ.สาขาภูเก็ต สามารถให้บริการน้ำประปาได้เต็มประสิทธิภาพ


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar