รัฐบาลจัดเต็มของขวัญปีใหม่ ’66

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่ารัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมในการบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้วงเงินงบประมาณที่ต้องคำนึงในการใช้จ่ายอย่างรอบด้าน โดยได้เห็นชอบหลากหลายมาตรการเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ดังนี้

กระทรวงการคลัง

    1.มาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 66” เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 ถึงวันที่ 15 ก.พ.2566 (46 วัน) โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดย แบ่งเป็นค่าซื้อสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 30,000 บาท (ออกใบกำกับภาษีแบบกระดาษ) และซื้อสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 10,000 บาท  (ออกใบกำกับภาษีผ่านอิเล็กทรอนิกส์) 
          มาตรการครั้งนี้ใช้สิทธิยื่นแบบลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค.67 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี

     สำหรับสินค้าที่เข้าร่วมมาตรการ เช่น ค่าซื้อสินค้า และค่าบริการทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการ ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึง   ค่าสินค้า OTOP และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ไม่รวมถึงสินค้าและบริการ 10 ประการ ดังนี้ ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ค่าซื้อยาสูบ ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต ค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 66 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 ก.พ. 66 และค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
     ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากมาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 66” จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 56,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ มวลรวมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.16 และ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษี และสนับสนุนการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์

2. มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566 โดยลดภาษีให้ในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของปีภาษี พ.ศ.2566

3. มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับ    ที่อยู่อาศัยปี 2566 โดยลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม ร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด (ทั้งบ้านมือ 1และมือ 2) เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญา

4.มาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานภายในประเทศ โดยลดอัตราภาษีตามปริมาณของน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ใช้บินในประเทศ จากลิตรละ 4.726 บาท เหลือลิตรละ 0.20 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน 2566 เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและบริการให้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและบรรเทาผลกระทบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสายการบินภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19

5. มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ตาม พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ให้สิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 สำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์จะประกอบกิจการต่อเนื่อง ณ สถานประกอบการเดิม ประเภทใบอนุญาตเดิม ที่ยื่นคำขอระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2566 เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องภายหลังสถานการณ์โควิด19

6. มาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 
    1) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เช่น โครงการชำระดีมีคืน ลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน มาตรการส่งเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟู 
    2) ธนาคารออมสิน เช่น โครงการวินัยดี มีเงิน  
    3) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เช่น ยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs 
    4) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ (ธพว.) เช่น ผ่อนดีมีคืน (บัตรกำนันสูงสุด 300 บาท) มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 

กระทรวงแรงงาน

1. ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ตาม ม.33 ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 15,000 ราย ไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท ตั้งแต่ ม.ค. 66 เป็นต้นไป

2. ให้เข้าถึงสิทธิการรักษา 5 โรค ตามโรงพยาบาลที่กำหนด 7,500 คน ได้แก่ โรคมะเร็งเต้านม ก้อนเนื้อที่มดลูก โรคนิ่ว โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจและหลอดเลือด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 30 มิ.ย. 66 เป็นต้นไป

3. ให้งานทำ “ต้องการทำงาน ต้องได้งานทำ” โดยมีตำแหน่งงานว่างที่หลากหลายไว้ให้บริการ รวม 613,754 อัตรา แบ่งเป็นต่างประเทศ 50,000 อัตราและในประเทศ 563,784 อัตรา 

4. ค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจในสถานประกอบการสำหรับผู้ประกันตน 300,000 คน ใน 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จ. สมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร ให้ได้รับการตรวจสุขภาพ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายผู้ประกันตน เฉลี่ยรายละ 910 บาท (กลุ่มเสี่ยง) และ 340 บาท (กลุ่มไม่เสี่ยง) ตั้งแต่ ม.ค. 66 เป็นต้นไป

5. ฟรี อบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ 10,000 คน โดยมีหลักสูตรการอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัย ในการทำงาน เช่น กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทำงานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และทักษะการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย ในการทำงาน ตั้งแต่ ม.ค. - มี.ค.66

6. ลดอัตราค่าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ คงเหลือ 1-3 บาท นาน 3  เดือน มีผู้เข้าร่วมทดสอบ 5,000 คน ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. 66

กระทรวงยุติธรรม

       1. บริการสานสุข เช่น ไกล่เกลี่ยทั่วไทยสุขใจปีใหม่ เปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ได้เจรจากัน ด้วยความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย ลดปัญหาหนี้สิน ส่งผลให้ลูกหนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม “LED-Care” ลงพื้นที่พบปะประชาชน ให้คำปรึกษากฎหมาย ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ บทบาท ภารกิจ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึง แอปพลิเคชัน “เช็คดิ” DSI ตรวจสอบการหลอกชักชวนลงทุนเฉพาะกิจแชร์ลูกโซ่ โดยสามารถประเมินความเสี่ยงที่บุคคล บริษัท หรือองค์กรที่เข้ามาชักชวน ให้เข้าร่วมลงทุนว่าเข้าข่ายลักษณะแชร์ลูกโซ่หรือไม่ แบบเบ็ดเสร็จในแอปพลิเคชันเดียว
     2. ปีใหม่...ให้ความรู้คู่ความสุข  เช่น ยุติธรรมสร้างสุข ส่งสุขให้กับประชาชน โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงช่องทางการขอรับคำปรึกษากฎหมายและการยื่นคำขอรับบริการ เช่น สายด่วน 1111 กด 77 แอปพลิเคชัน Justice care หรือศูนย์ยุติธรรมชุมชน และผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ
     3. ปีใหม่ปลอดภัย  เช่น การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566 โดยนำผู้ถูกคุมความประพฤติทำงานบริการสังคมปรับภูมิทัศน์ ตัดแต่งต้นไม้ บริเวณทางแยกและจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับ การบังคับใช้กฎหมายและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขับรถขณะเมาสุรา และรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และการสุ่มตรวจปัสสาวะ ในผู้ขับขี่รถโดยสารประจำทาง ภายใต้หัวข้อ “ปีใหม่สุขใจ เดินทางปลอดภัยไร้ยาเสพติด” ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (หมอชิต) จตุจักร


นอกจากนี้ยังมีของขวัญปีใหม่จากอีกหลากหลายหน่วยงาน 

- กระทรวงการต่างประเทศ ให้บริการหนังสือเดินทางด่วนภายในวันเดียว (ทำเช้า รับบ่าย) โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมเล่มด่วน ตั้งแต่วันที่ 3 - 13 ม.ค.66 (ยกเว้นวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ)
- กระทรวงพลังงาน ตรึงราคาน้ำมันทุกชนิดในช่วงวันที่ 24 ธ.ค. 2565 - 3 ม.ค. 2566, เตรียมการขอขยายระยะเวลาคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG โดยกำหนดราคาขายปลีกอยู่ที่ 408 บาท/ถัง 15 กก. ตั้งแต่ 1-31 ม.ค. 2566
- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เน้นการเตือนภัยข่าวปลอมผ่าน “เป๋าตังค์” ยกเว้นค่าโทร NT Voice และ SMS รวมถึงส่วนลดค่าส่ง EMS
- กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เน้นการส่งเสริมการเรียนรู้ทุกช่วงวัยและการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการส่งเสริมเกษตรกร และ SMEs
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่งเสริมการให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีที่พักอาศัย มีงานที่มั่นคง และมีรายได้ดูแลครอบครัว
- กระทรวงคมนาคม เปิดให้ใช้มอเตอร์เวย์สาย 6 (บางปะอิน-สระบุรี-โคราช) และยกเว้นค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์สาย 7 และสาย 9 ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงและเรือโดยสารฟรีในช่วงปีใหม่ รวมทั้งขยายเวลาเดินรถในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar