Soft loan ช่วยผู้ประกอบการฝ่าวิกฤต โควิด-19

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงัก ทั้งเส้นทางในประเทศและต่างประเทศ จากข้อมูลล่าสุดของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปี พ.ศ. 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีพ.ศ. 2562 ประมาณร้อยละ 83.2 ส่งผลให้ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 82.6 ซึ่งกระทบโดยตรงต่อธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงสายการบิน ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งสิ้น

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่ส่งผลเพียงภาคการท่องเที่ยวแต่ยังกระจายวงกว้างไปยังผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่การเคลื่อนย้ายแรงงาน การขนส่งวัสดุ เครื่องจักร เครื่องมือทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น

ทางรอดพลิกฟื้นธุรกิจด้วยสินเชื่อ Soft Loan

รัฐบาลจึงตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เสริมสภาพคล่อง พยุงธุรกิจ รัฐบาลได้ติดตามการดำเนินงานมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้สถาบันทางการเงินของรัฐ ออกมาตรการสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยเป็นธรรมเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ เพื่อรักษาการจ้างงาน บรรเทาภาระหนี้สินประชาชน และป้องกันการเป็นหนี้นอกระบบ 

1.    มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Soft loan ธนาคารแห่งประเทศไทย

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวจากการระบาดในรอบแรก ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยเจ้าของธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อคงค้างไม่เกิน 500 ล้านบาท (สำหรับแต่ละสถาบันการเงิน) สามารถสมัครขอ soft loan ของแบงก์ชาติได้ โดยแบงก์ชาติได้กำชับให้สถาบันการเงินกระจายเงินสินเชื่อนี้อย่างทั่วถึง โดยอนุมัติสินเชื่อ 138,200 ล้านบาท จำนวน 77,787 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 12 เม.ย. 2564)


2.    มาตรการทางการเงินสินเชื่อฟื้นฟู ธนาคารแห่งประเทศไทย

เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 โดย ธปท. ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน เพื่อนำไปให้กู้ยืมแก่ผู้ประกอบธุรกิจต่อ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ รักษาระดับการจ้างงาน และช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ไม่ให้นำเงินสินเชื่อดังกล่าวมา ชำระหนี้เดิมที่มีอยู่กับสถาบันการเงินที่ให้กู้ยืมเงิน โดยอนุมัติสินเชื่อ 206,715 ล้านบาท จำนวน 59,064 รายราย (ข้อมูล ณ วันที่ 9 ม.ค. 2566)


3.    โครงการ Soft loan ออมสิน

ครม. มีมติเห็นชอบปรับปรุงการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากวิกฤติการแพร่ระบาด Covid-19 ตามที่ธนาคารออมสินเป็นผู้ดำเนินการ วงเงิน 5,000 ล้านบาท (ปล่อยสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 5 แสนบาท ดอกเบี้ย ร้อยละ 3.99 ต่อปี ไม่ต้องมีหลักประกัน) 
กลุ่มเป้าหมาย
•    กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ ผู้ผลิตรายย่อย ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก เพื่อให้ SMEs ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น 
•    กลุ่ม SMEs ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและ Supply Chain อาทิ ร้านอาหาร ธุรกิจสปา นวดแผนไทย รถรับจ้างนำเที่ยว เกสต์เฮ้าส์ 
โดยที่ปี 2565 ธนาคารออมสินได้อนุมัติสินเชื่อโครงการไปแล้ว จำนวน 4,137 ราย รวมเงินทั้งสิ้น 1,746 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลืออีกจำนวน 3,254 ล้านบาท จากวงเงินรวมทั้งโครงการ 5,000 ล้านบาท

4.    โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) Re-Open  
ต่อเนื่องมาถึงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อภาคธุรกิจโรงแรมและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Supply Chain) ของโรงแรม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจโรงแรมและ Supply Chain ของโรงแรมให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่องมากขึ้น โดยขยายวันรับคําขอสินเชื่อจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2566 หรือจนกว่าวงเงินสินเชื่อรวมในโครงการจะหมด

คุณสมบัติผู้กู้

1)    ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ยังอยู่ระหว่างยื่นขอหรือมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ 
2)    ผู้ประกอบการที่มีกําไรอย่างน้อย 1 ใน 5 ปีย้อนหลังล่าสุด และปัจจุบันยังประกอบกิจการอยู่สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ 
3)    ผู้ประกอบการที่มีประวัติชําระหนี้ดี หรือมีหนี้ค้างชําระ และมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วแต่สามารถชําระหนี้ได้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น 

วัตถุประสงค์

เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการสําหรับเสริมสภาพคล่องในการดําเนินธุรกิจ และปรับปรุงหรือซ่อมแซมสถานประกอบ กิจการหรือลงทุนในอุปกรณ์ต่าง ๆ
ระยะเวลาชำระเงินกู้ : แบ่งออก เป็น  2 กรณี  
1)    กรณีให้สินเชื่อ เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมสถานประกอบกิจการ และลงทุนในอุปกรณ์ต่าง ๆ ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 7 ปี และ 
2)    กรณีให้สินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ในกิจการ ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 5 ปี จากเดิม มีกรณีเดียว ได้แก่ การให้สินเชื่อเพื่อปรับปรุงซ่อมแซม สถานประกอบกิจการ และลงทุนในอุปกรณ์ต่าง ๆ 

Soft loan ต่อลมหายใจผู้ประกอบการ

Soft loan ถือว่าเข้ามาเติมเต็มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะจากสถานการ์ณเศรษฐกิจที่หยุดชะงักลง โดยสินเชื่อที่ได้มาจะถูกนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเงินสำรองสำหรับดำเนินธุรกิจต่อไป อย่าง วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาดุก หมู่บ้านห้วยกรด ที่ประสบปัญหาทางการเงิน สินค้าขายไม่ออก ทำให้ขาดเงินสภาพคล่อง การได้สินเชื่อ Soft loan เป็นการต่อลมหายใจให้สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจให้มีแรงใจพร้อมเดินหน้าธุรกิจต่อไป 
ในขณะที่ธุรกิจของสีฟ้า ที่มี 3 ธุรกิจ คือ ห้องอาหารสีฟ้า ซึ่งในช่วงโควิด-19 ทำให้รายได้มาจากการสั่งดิลิเวอรีเท่านั้น ธุรกิจที่สองคือรับจ้างทำอาหารและเครื่องดื่มในโรงแรม ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วนธุรกิจที่สามคือรับผลิตอาหารกล่องให้กับสายการบินซึ่งหยุดไป ทำให้รายได้หายไปเกินร้อยละ 90 การหยุดชะงักของ 3 ธุรกิจทำให้ต้นทุนคงที่ต่าง ๆ เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ และค่าไฟ เป็นรายจ่ายเข้ามา เมื่อธนาคารประกาศสินเชื่อ soft loan ทำให้มีเงินสดหมุนเวียนมากขึ้น สภาพคล่องดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถจ่ายค่าจ้างพนักงานและซัพพลายเออร์ เพื่อให้ทุกคนอยู่รอดไปพร้อมกัน


image รูปภาพ
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar