ครม.อนุมัติงบกลางการจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์และให้รัฐวิสาหกิจ จัดซื้อวัคซีนชิโนฟาร์มให้พนักงาน

ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 จำนวน 1,334.945 ล้านบาท 
ประกอบด้วย 4 หน่วยงาน ดังนี้ 
1. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 528 ล้านบาท 
2. กรมการแพทย์ จำนวน 500 ล้านบาท ใช้สำหรับจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ 
3. กรมควบคุมโรค จำนวน 58 ล้านบาท 
4. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จำนวน 248 ล้านบาท 
     สำหรับเงินจำนวน 500 ล้านบาทของกรมการแพทย์นั้น ใช้ในการจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ จำนวน 40,000 คอร์ส รวม 2 ล้านเม็ด เพื่อใช้รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่ม 607 (ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี และ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม)

     ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) เป็นยาตัวแรกที่จะใช้รักษาเฉพาะโรคโควิด-19 ที่คิดค้นพัฒนาและผลิตโดยบริษัท MSD บริษัทผู้ผลิตวางแผนจะขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาในเดือน ต.ค. 2564 ส่วนประเทศไทยคาดว่าจะมีการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายใน พ.ย.นี้ 
     ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาเม็ดชนิดรับประทานออกฤทธิ์ต้านไวรัส พัฒนาขึ้นเพื่อใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ และได้ผ่านการวิจัยขั้นสุดท้ายไปเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยผู้ป่วย 1 คน จะต้องรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 4 เม็ด รวม 5 วันหรือประมาณ 40 เม็ดต่อการรักษา 1 ครั้ง ซึ่งยาโมลนูพิราเวียร์ช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยหนักและเสียชีวิตลงได้ถึง 50% อีกด้วย
     นอกจากนี้ครม. เห็นชอบให้รัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมสามารถจัดหาวัคซีนชิโนฟาร์มป้องกันโควิด-19 จากกรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือ หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ และอำนาจในการให้การบริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุขเพื่อให้บริการแก่พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.2564 เป็นต้นไป

     ทั้งนี้กระทรวงแรงงานประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีนซิโนฟาร์ม ป้องกันโรคโควิด-19 ในปี 2564 มีรัฐวิสาหกิจจำนวนทั้งสิ้น 58 แห่ง และมีพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งสิ้น 261,464 คน ในจำนวนนี้มีรัฐวิสาหกิจ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดหาวัคซีนรวมทั้งสิ้น 40 แห่ง และมีพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจที่แสดงความประสงค์ขอรับการฉีดวัคซีนจำนวนทั้งสิ้น 117,677 คน
     สำหรับอัตราค่าใช้จ่าย จะคำนวณจากราคาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตัวเลือก (ซิโนฟาร์ม) ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งในปี 2564 กำหนดไว้จำนวน 2 เข็ม x จำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจที่ประสงค์ขอรับวัคซีน 117,677 คน และในปี 2565-2568 จำนวน 2 เข็ม x จำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจในปี 2564 ทั้งหมด 261,464 คน จากรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 58 แห่ง
การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อผลักดันการเปิดประเทศฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้ 
 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar