รู้ทันสื่อในสังคมผู้สูงวัย

ปี 2565 เป็นปีที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged society) ตามเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติที่กำหนดว่า เป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 14 ขึ้นไป หรือในประชากรทุก ๆ 100 คน จะพบผู้สูงอายุเกิน 20 คน

รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อรองรับสังคมสูงวัยหลายเรื่อง เช่น ส่งเสริมการจ้างงาน สร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญเพื่อส่งเสริมการออม สร้างความมั่นคง ในชีวิตให้กับผู้สูงอายุสำหรับการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจ แต่สิ่งหนึ่งที่ตัวผู้สูงอายุจะต้องมี หรือเร่งเสริมสร้างขึ้นมา คือ การรู้เท่าทันสื่อเพื่อให้รู้จักการประเมิน การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพราะการขาดทักษะการใช้สื่อและบริโภคข่าวสารอย่างรู้เท่าทันจะทำให้ผู้สูงวัยมีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อ ของข่าวลวง โดยเฉพาะข่าวปลอม ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของผู้สูงอายุจากสื่อใหม่หรือสื่อดิจิทัล เช่น ไลน์เฟซบุ๊ก ยูทูป ซึ่งเป็นสื่อที่ผู้สูงวัยเข้าถึงได้ง่ายในยุคปัจจุบัน

ที่ผ่านมา มีงานวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงวัยหลายฉบับ งานวิจัยที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งเป็นของ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับกองทุนพัฒนา สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (สสส.) ที่สำรวจการรับรู้ข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้สูงวัยไทย โดยสำรวจกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป 817 คน เมื่อเดือนเมษายน 2564 พบว่า ผู้สูงวัยต้องการข้อมูล เกี่ยวกับสุขภาพในระดับมาก และเห็นว่าข่าวสุขภาพที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์มีความทันสมัย และมีรูปแบบการเขียนที่น่าสนใจติดตาม ร้อยละ 70 มีความเชื่อข่าวปลอมที่เกี่ยวกับสุขภาพ โดยเฉพาะ เรื่องที่เกี่ยวกับมะเร็งและโรคโควิด-19 สื่อที่ผู้สูงวัยเปิดรับมากที่สุด คือ ไลน์ รองลงมา คือ เฟซบุ๊ก ยูทูป เว็บไซต์และ สื่อออนไลน์อื่น ๆ เช่น ทวิตเตอร์ และ ติ๊กต็อก นอกจากนี้ผู้สูงวัยยังเชื่อว่า สื่อที่มีข่าวปลอม มากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก ตามด้วยไลน์ และสื่อโทรทัศน์ผลการสำรวจยังพบว่า ผู้สูงวัยร้อยละ 66.2 แชร์ข่าว ปลอมซ้ำ เพื่อเตือนคนใกล้ตัวที่ได้รับข้อมูลนั้น ร้อยละ 54.7 เพิกเฉย ไม่สนใจ เลื่อนข้ามไป และมีเพียงร้อยละ 24.5 ที่ตรวจสอบหาข้อเท็จจริง โดยการสอบถามจากคนใกล้ชิด อ่านความเห็นในโพสต์ ข่าวและค้นหาบทความที่คล้ายคลึงกันในเว็บไซต์

ผลการสำรวจชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ผู้สูงวัยจะต้องมีทักษะของการรู้เท่าสื่อ ไม่ให้ถูกหลอกลวงจากพวกมิจฉาชีพที่หลอกขายสินค้าจากการโฆษณาที่เกินจริง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหาร เสริม หรือรู้จักใช้วิจารณญาณในการแชร์ข่าว เพื่อไม่ให้ข่าวปลอมแพร่กระจายและมีการแชร์ออกไปจนเป็น ข่าวลวงวนซ้ำกันในกลุ่มต่าง ๆ การเสริมทักษะการรู้เท่าสื่อจะทำให้ผู้สูงวัยรู้จักการเลือกรับข่าวสาร รู้จักการพิจารณาเนื้อหา เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน รศ.ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ สถาบันวิจัยภาษา และวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำให้ผู้สูงอายุจดจำคำ 4 คำ ง่ายๆ "หยุด คิด ถาม ทำ" เพื่อเสริมสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อ

"หยุด" คือ การยับยั้งชั่งใจอย่าด่วนเชื่อในข้อมูลที่ได้รับมา

"คิด" คือ การคิดถึงความจำเป็น ข้อดี ข้อเสีย ตลอดจนผลกระทบที่ตามมา

"ถาม" คือ การหาข้อมูลเพิ่มเติม จากการถามเพื่อน ผู้รู้ หรือจากสื่ออื่น ๆ อย่าเชื่อข้อมูลมาจากสื่อเพียงแหล่งเดียว และ

"ทำ" คือ เมื่อคิดทบทวนและถามหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว จึงตัดสินใจว่า จะแชร์ต่อหรือไม่

4 คำนี้จะช่วยให้ผู้สูงวัย ได้มีเวลาฉุกใจคิดก่อนที่จะเชื่อ หรือแชร์ข่าวออกไป มีเวลาที่จะพิจารณากลั่นกรองเนื้อหาของข่าวสาร

การสร้างภูมิต้านทานด้านสื่อให้กับผู้สูงวัยจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตดี สามารถใช้ประโยชน์จากสื่อและข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัว เพื่อการดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย เป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพดูแลตัวเองได้และยังสามารถเป็นพลังช่วยขับเคลื่อนสังคมร่วมกับคนในวัยอื่น ๆ ได้อีกด้วย

 

 

นางสาวสุภาพร ครุสารพิศิฐ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิชาการประชาสัมพันธ์  / ข้อมูล


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar