ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน แนะคุมอาหาร ออกกำลังกายเป็นทางป้องกัน

รายงาน ปี 2565 ของกระทรวงสาธารณสุข ในระบบ Health Data Center เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 มีข้อมูลผู้สูงอายุในระบบ 9,527,054 คน พบผู้สูงอายุได้รับการประเมินและคัดกรองสุขภาพ 7,501,688 คน หรือร้อยละ 78.74 ซึ่งปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุส่วนใหญ่ จะเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อันดับ 1 คือ โรคความดันโลหิตสูง คิดเป็นร้อยละ 46.06 รองลงมาคือ โรคเบาหวาน ร้อยละ 21.12 และโรคหลอดเลือดสมอง ร้อยละ 2.43 โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เกิดจากร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน 

เนื่องจากตับอ่อนผลิตได้ไม่พอและเกิดจากร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ร่างกายต้องการอินซูลินมากกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือจากสภาพแวดล้อม เช่น ความอ้วน ความชรา ขาดการออกกำลังกาย โรคหรือยาบางกลุ่ม เป็นต้น ทั้งนี้ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถป้องกันและควบคุม ไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ หากคุมระดับน้ำตาลและน้ำหนักตัวได้ดี แนะนำผู้เป็นโรคเบาหวานควรควบคุมอาหารและน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในภาวะปกติ โดยกินอาหารให้ตรงเวลา ครบ 3 มื้อ ในปริมาณที่ถูกสัดส่วนกับความต้องการของร่างกาย ไม่กินจุกจิก

เลือกกินอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท หรือธัญพืชไม่ขัดสี จะช่วยให้ได้รับใยอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลช้าลง ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
นอกจากนี้ ควรงดกินน้ำตาลเกินจำเป็น เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ผลไม้หวานจัด น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน ไอศกรีม และผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ต่างๆ ส่วนนมจืด ไม่ควรดื่มเกิน 1 แก้วต่อวัน เนื่องจากนมวัวมีน้ำตาลตามธรรมชาติอยู่แล้ว เช่นเดียวกับนมไขมันต่ำพร่องมันเนย ซึ่งลดเฉพาะปริมาณไขมัน แต่มีน้ำตาลเหมือนเดิม สำหรับนมเปรี้ยวส่วนใหญ่จัดเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณสูง จึงไม่ควรดื่มทุกวัน 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรพบแพทย์สม่ำเสมอและจัดการความเครียดให้ดีด้วยการออกกำลังกายให้หมาะกับวัย เพื่อไม่ให้ความเครียดไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนขัดขวางการทำงานของอินซูลิน


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar