ปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและทบทวนกฎหมาย พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ พ.ศ.2558

ครม. เห็นชอบหลักการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฎหมายตาม พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 มุ่งตอบโจทย์ผู้ประกอบการและความต้องการประชาชนให้ได้รับความสะดวก รวดเร็วในการติดต่อขอรับบริการภาครัฐ โดยกำหนดแนวทางการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฎหมายตามพ.ร.บ.  การอำนวยความสะดวก ฯ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงระยะเวลา การพิจารณาอนุญาตและทบทวนกฎหมายให้เอื้อต่อกระบวนการพิจารณาอนุญาต เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับการบริการจากภาครัฐที่เร็วขึ้น ง่ายขึ้น ค่าใช้จ่ายที่ถูกลงและเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจโดยกำหนดเป็นมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้เป็นแนวทางในการทบทวนระยะเวลาการดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

  • การยื่นเอกสาร ตรวจสอบความครบถ้วนของรายการเอกสารที่ผู้ขออนุญาตยื่นเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาอนุญาต มาตรฐานระยะเวลาการให้บริการ ไม่เกิน 1 วันทำการ
  • การพิจารณา ตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ขออนุญาตว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือไม่ โดยจำแนกตามลักษณะงานและความซับซ้อนของเอกสารที่ใช้ในการพิจารณา เช่น
    • การตรวจพิจารณาเอกสาร จำนวน 1-10 รายการ หรือเอกสารยืนยันตัวตน หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานผู้อนุญาต ไม่เกิน 2 วันทำการ
    • การตรวจสอบสถานที่ ไม่เกิน 15 วันทำการ
    • การตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์/เครื่องจักร ไม่เกิน 2 วันทำการ
    • การตรวจสอบองค์กรโดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน  ไม่เกิน 15 วันทำการ
    • การพิจารณาโดยคณะกรรมการ ไม่เกิน 29 วันทำการ
  • การลงนามหรือคณะกรรมการมีมติ เป็นขั้นตอนที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายลงนามในใบอนุญาต

มาตรฐานระยะเวลาการให้บริการ ไม่เกิน 1 วันทำการ
การแบ่งกลุ่มกระบวนงานเพื่อปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตเป็น 2 กลุ่ม 

1. กลุ่มกระบวนงานที่มีผลกระทบสูง เป็นกระบวนงานสำคัญหรือมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก รวมถึงกระบวนงานที่เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน จำนวน 31 กระบวนงาน
กระบวนงานที่สนับสนุนด้านการลงทุน/ประกอบกิจการ
1.    การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน/ขยายโรงงาน (กรมโรงงานอุตสาหกรรม)
2.    การจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร (กรมโรงงานอุตสาหกรรม)
3.    การทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (กรมวิทยาศาสตร์บริการ)
4.    การขึ้นทะเบียนตำรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร (อย.)
5.     การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนตำรับยา (อย.)
6.    การจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรง (สคบ.)
7.    การขอผ่อนผันการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550) (กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน)
8.    การขออนุญาตและแก้ไขรายการผลิตภัณฑ์อาหาร (อย.)
9.    การขออนุญาตการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ)
10.    การขออนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)
11.    การรังวัดสอบเขต แบ่งแยก รวมโฉนดที่ดินหรือตรวจสอบเนื้อที่แบ่งแยก รวมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (กรมที่ดิน)
12.    การจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ (กรมที่ดิน)
13.    การขอตรวจสอบหลักฐานทะเบียนที่ดินหรือห้องชุด (กรมที่ดิน)
14.    การแจ้งขุดดิน/ถมดิน (กรมโยธาธิการและผังเมือง)
15.    การขอรับใบอนุญาตเป็นผู้มีสิทธิจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
16.    การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (กรมทรัพย์สินทางปัญญา)
17.    การต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (กรมทรัพย์สินทางปัญญา)

กระบวนงานที่สนับสนุนด้านการนำเข้าและการส่งออก
18.    การขอรับชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิต ในราชอาณาจักร 
19.    การขออนุญาตนำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายในราชอาณาจักร 
20.    การขออนุญาตนำสัตว์หรือซากสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร (กรมปศุสัตว์)
21.    การขออนุญาตให้เป็นผู้นำของเข้า ผู้ส่งออกของ (กรมศุลกากร)

กระบวนงานที่สนับสนุนด้านการท่องเที่ยว
22.    การออกใบอนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย (กรมการท่องเที่ยว)
23.    การเลิกประกอบกิจการธุรกิจนำเที่ยวและขอรับคืนหลักประกัน (กรมการท่องเที่ยว)
24.    การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม (กรมการปกครอง)

กระบวนงานที่สนับสนุนด้านแรงงาน
25.    การขอใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ(กรมการจัดหางาน)
26.    การขอรับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน (กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน)

กระบวนงานที่สนับสนุนภาคการเกษตร
27.    การขึ้นทะเบียนเกษตรกร (กรมส่งเสริมการเกษตร)
28.    การขอรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ (กรมวิชาการเกษตร)
29.    การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (กรมประมง)


กระบวนงานที่สนับสนุนการวางรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคม
30.    การขออนุญาตให้ชาวต่างชาติประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา)
31.    การขอความยินยอมหรือขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ (สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม)

กรณีตัวอย่าง (ข้อ 11)
       การติดต่อสำนักงานที่ดินเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน ในอดีตไม่มีกรอบเวลาระบุไว้ชัดเจนว่าการดำเนินการมีทั้งหมดกี่ขั้นตอน แต่ละขั้นตอนใช้เวลาเท่าไหร่ ทำให้การติดต่อใช้เวลานานข้ามปี และไม่ชัดเจนว่าถึงขั้นตอนไหน แต่ในอนาคตจะมีกรอบเวลาชัดเจน เช่น  การตรวจสอบเอกสารต้องไม่เกิน 2 วันทำการ การตรวจสอบสถานที่ไม่เกิน 15 วันทำการ 

กรณีตัวอย่าง (ข้อ 24)
       นาย ก. ดำเนินการขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ต้องติดต่อหลายหน่วยงานที่อยู่ภายในส่วนราชการเดียว เช่น ด้านโครงสร้างติดต่อโยธา ด้านระบบระบายน้ำ ติดต่อสิ่งแวดล้อม หรือการจดทะเบียนอื่น ๆ ในอนาคตจะมีคู่มือที่กำหนดชัดเจนว่าต้องไปติดต่อส่วนงานไหนบ้าง แต่ละจุดใช้เวลาเท่าไหร่ หรืออาจเป็น One Stop Service รวมทั้งการแจ้งผู้มาติดต่อราชการกรณีเกิดปัญหาอย่างรวดเร็ว 

2. กลุ่มกระบวนงานทั่วไป เป็นการส่งเสริมการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตในกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต การจดทะเบียน หรือการแจ้ง โดยปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตทบทวนกระบวนงานและปรับลดระยะเวลาการดำเนินการลงร้อยละ 30-50 

แนวทางการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต
•    พิจารณายุบเลิก ยุบรวมขั้นตอนที่ไม่จำเป็น การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน 
•    ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายที่กำหนดระยะเวลาในการอนุญาตและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการบริการของหน่วยงาน
•    นำมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการตามผลการศึกษาของสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นเป้าหมายในการพิจารณาปรับลดระยะเวลาการดำเนินการ
•    ปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชนให้สอดคล้องกับการปรับปรุงระยะเวลาการดำเนินการ
•    ปรับลดระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต ซึ่งต้องไม่กระทบต่อคุณภาพการให้บริการและกรณีกระบวนงานใดที่หน่วยงานไม่สามารถลดระยะเวลาการให้บริการลงได้อีกหรือมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการให้รายงานไปยังสำนักงาน ก.พ.ร. ทราบ

    อย่างไรก็ตามหลักการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฎหมายตาม พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 สอดคล้องกับแนวคิดของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่มีการกล่าวถึง ในงานเสวนา BETTER THAILAND open dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า ในหัวข้อ "สังคมยุคใหม่ กฎหมายทันสมัย ระบบราชการทันโลก แก้คอรัปชั่นทันที" ว่า ทำอย่างไรให้ระบบราชการมันรวดเร็ว ไม่โกง ซึ่งทำได้ เพียงแต่อาจต้องใช้เวลาความร่วมมือและความหนักแน่นเข้มแข็งในการตัดสินใจ มีด้วยกันทั้งหมด 3 แนวทาง 
•    มาตรการทางบริหาร ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ ทุ่นแรง ทุ่นเวลา ทุ่นงบประมาณไปเยอะ 
•    มาตรการทางปกครอง คือ ต้องพัฒนาบุคลากร เปลี่ยนทัศนคติให้รู้ว่าการทำงานยุคสมัยนี้ ต้องให้บริการประชาชน 
•    มาตรการทางกฎหมาย มีหลักนิติธรรม แปลว่า ใช้กฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่ตามอำเภอใจ 

     นายวิษณุ กล่าวว่า พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ พ.ศ. 2558 มุ่งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการขออนุญาตกับทางภาครัฐ พ.ร.บ.นี้กำหนดให้ส่วนราชการทุกแห่ง ต้องทำคู่มือการติดต่อราชการให้ชาวบ้านรู้ว่าต้องติดต่อที่ไหน ผ่านโต๊ะใดบ้าง หากขออนุญาตต้องระบุว่าใช้เวลาเท่าใดจึงจะตอบกลับ หากครบกำหนดแล้วยังไม่ได้รับคำตอบ จะโดนเอาผิดหรือถ้ายังไม่เสร็จต้องออกหนังสือแจ้งประชาชนก่อน ไม่เช่นนั้นจะมีความผิด

     นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนอีกหลายฉบับ เช่น
 - พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
 - พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม
 - ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย
 - พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
 - พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
 - ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar