ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล บรรเทาค่าครองชีพประชาชน

ครม. ขยายกรอบเวลาลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร ต่อเนื่อง 2 เดือน มีผลเริ่ม 21 พ.ค.-20 ก.ค. 65 นี้ โดยเป็นมาตรการต่อเนื่องจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลตามกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 19) ซึ่งเคยลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาท/ลิตร ที่จะสิ้นสุดวันที่ 20 พ.ค. 65 เพื่อบรรเทาผลกระทบและลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่สูง


ภาพรวมการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาขับเคลื่อน ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มรถบรรทุกขนส่งและรถโดยสาร คิดเป็น ร้อยละ 65 ของปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมด โดยจำแนกเป็นน้ำมันดีเซลแต่ละชนิด ดังนี้
•    น้ำมันกลุ่มดีเซลตั้งแต่เดือน ม.ค. - มี.ค. 65 เฉลี่ยอยู่ที่ 76.25 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4) 
•    น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 64.73 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.9) 
•    น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. 62 ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 3.49 ล้านลิตร/วัน 
•    น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 มีปริมาณการใช้ 0.21 ล้านลิตร/วัน



รัฐเร่งหามาตรการช่วยเหลือค่าน้ำมัน
ตั้งแต่เดือนต.ค. 64 ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีนโยบายดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนผู้ประกอบการ ซึ่งจะมีผลต่อค่าครองชีพประชาชน โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยในการอุดหนุน รวมทั้งการลดภาษีสรรพสามิตเป็นการชั่วคราว 3 เดือนตั้งแต่ 18 ก.พ. 65 และการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันรักษาระดับค่าการตลาดไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตร นอกจากนั้นได้มีการปรับส่วนผสมไบโอดีเซลเพื่อลดต้นทุนเนื้อน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ใช้เงินอุดหนุนน้ำมันดีเซลมาจนถึงปัจจุบันประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท 
แนวทางการบริหารราคาน้ำมันดีเซลในช่วงเดือนพ.ค. – มิ.ย. 65  รัฐจึงจะช่วยสนับสนุนการตรึงราคาครึ่งหนึ่ง (50%) นอกจากนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมี่ยม เนื่องจากเป็นน้ำมันที่ใช้กับกลุ่มรถของผู้ที่มีกำลังจ่ายสูง เพื่อลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และนำเงินในส่วนนี้ไปชดเชยให้กับกลุ่มที่มีความจำเป็น
ทั้งนี้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตนอกจากช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนแล้ว แต่ยังแบ่งเบาภาระกองทุนน้ำมันน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากขึ้น ซึ่งกองทุนฯมีภาระดูแลดีเซลเกือบ 10 บาทต่อลิตร มาตรการดังกล่าวจึงเป็นเพียงมาตรการทางภาษีระยะสั้นเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในภาคการผลิตและขนส่งในทุกอุตสาหกรรม ที่ราคาอาจปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทบต่อค่าใช้จ่ายของประชาชน และในระยะยาวอาจก่ออุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ 
โดยก่อนหน้านี้รัฐได้พยายามออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชน ครอบคลุมกว่า 40 ล้านคน ซึ่งมีผลตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค.65 ใช้วงเงิน ในการดำเนินการ 80,247 ล้านบาท เป็นเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 39,520 ล้านบาท กองทุนประกันสังคม 35,224 ล้านบาท งบประมาณ 3,740 ล้านบาท และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 1,763 ล้านบาท การตรึงราคาน้ำมันที่ต่อเนื่องและยังมีทีท่าว่าจะยาวนาน อาจส่งผลต่อสถานะการเงินและสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยฐานะของกองทุนน้ำมันฯ ณ  15 พ.ค. 65 ติดลบอยู่ที่ 72,062 ล้านบาท 
เนื่องจากน้ำมันเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นไปตามหลักผู้ก่อมลภาวะจึงต้องมีกรมสรรพสามิต ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีจากสินค้าและบริการเฉพาะอย่างจากผู้ผลิตสินค้า เพื่อเป็นรายได้ให้รัฐบาลนำไปบริหารประเทศ และทะนุบำรุงท้องถิ่นต่าง ๆ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งการลดภาษีดีเซลทุก 1 บาท จะทำให้รายได้ภาครัฐหายไปเดือนละ 1,900 ล้านบาท หากลด 3 บาทเหมือนที่ผ่านมา ส่งผลให้หายไปเดือนละ 5,700 ล้านบาท ดังนั้นการลดภาษี จึงพิจารณาใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น

     ทางด้าน รมว.กระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในครั้งนี้ ส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อดูแลประชาชนไม่ให้แบกรับภาระ             ค่าครองชีพที่สูงจึงต้องใช้มาตรการทางภาษีมาช่วยลดระดับราคาขายปลีก และปรับลดอัตราภาษีสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท โดยให้อนุพันธ์ของน้ำมันดังกล่าว มีการปรับลดอัตราภาษีตามสัดส่วนเนื้อน้ำมันที่ผสมอยู่
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม ถึงความจำเป็นต้องต่อเนื่องในการดูแลประชาชนและผู้ประกอบการอย่างทั่วหน้า ขณะเดียวกันการส่งเสริมการประหยัดพลังงานในภาคประชาสังคมควบคู่กันไปด้วย โดยใช้กองทุนน้ำมันที่จำเป็นต้องใช้เงินกู้ รวมแล้วทั้งสิ้น 7 หมื่นล้านบาท เพื่อไม่ให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้นไป ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค ที่ต้องปรับราคาตาม ต้นทุนภาคขนส่ง โดยมีอีกหลายมาตรการที่ยังหารือร่วมกัน
คุมเข้ม 26 จังหวัดชายแดนสกัดการลักลอบขายน้ำมัน
    นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีหลายประเทศ เริ่มมีภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเป็นการป้องกันการลักลอบนำน้ำมันเชื้อเพลิงจากประเทศไทยออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศโดยผิดกฎหมาย จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีพื้นที่ติดประเทศเพื่อนบ้าน รวม 26 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี ตราด ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน และจังหวัดเชียงใหม่ 
    บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนป้องกันการลักลอบนำน้ำมันเชื้อเพลิงจากประเทศไทยออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศโดยผิดกฎหมาย หากพบการกระทำความผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เชิงรุกให้ผู้ประกอบการน้ำมันเชื้อเพลิงในพื้นที่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการนำน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศออกไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้านโดยผิดกฎหมายหากพบพฤติการณ์น่าสงสัยเกี่ยวกับการลักลอบนำน้ำมันเชื้อเพลิงจากประเทศไทยออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศโดยผิดกฎหมาย ให้รีบแจ้งนายอำเภอในพื้นที่ทราบโดยทันที หรือแจ้งสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar