การฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม

จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางเริ่มที่คลี่คลาย ปริมาณน้ำในภาพรวมลดลงหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้จึงเข้าสู่ขั้นตอนการเยียวยาฟื้นฟู และบรรเทาผลกระทบแก่พี่น้องประชาชน โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ติดตามดูแลการแก้ไขสถานการณ์และรับฟังปัญหาจากพี่น้องในพื้นที่ รับทราบความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหา พร้อมกำชับให้ช่วยเหลือเยียวยาอย่างเต็มที่และรวดเร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอน้ำลด ผ่านมาตรการต่าง ๆ ดังนี้

มาตรการช่วยเหลือประชาชนจากน้ำท่วม

1.    กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และจังหวัด
ได้ให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562  
•    ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 29,700 บาท
•    กรณีบาดเจ็บสาหัสฯ ให้จ่ายเบื้องต้นรายละ 4,000 บาท  
•    ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ เท่าที่จ่ายจริงหลังละ 49,500 บาท  
•    ด้านการเกษตร ช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยพิบัติที่พืชตาย หรือเสียหายตามจำนวนพื้นที่ทำการเกษตรจริงที่ได้รับความเสียหาย ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ โดยคิดจากต้นทุนการผลิตเฉลี่ย
โดยช่วยเหลือไปแล้วรวมทั้งสิ้น จำนวน 79,013,666.76 บาท

2.    กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยสำนักนายกรัฐมนตรี
•    ค่าจัดการศพ รายละ 50,000 บาท
•    เงินทุนเลี้ยงชีพ แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ครอบครัวละ 30,000 บาท  
•    เงินทุนเลี้ยงชีพ แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่มีบุตรอายุไม่เกิน 25  ปีบริบูรณ์ อีกครอบครัวละ 50,000 บาท  
•    ค่าวัสดุในการก่อสร้างซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายทั้งหลัง ไม่เกินหลังละ  220,000 - 230,000 บาท เสียหายมาก ไม่เกินหลังละ 70,000 บาท และเสียหายน้อย ไม่เกินหลังละ 15,000 บาท  
•    ค่าเครื่องอุปโภค และเครื่องใช้อื่น ๆ ที่จำเป็นแก่ครอบครัวแก่ผู้ประสบภัยพิบัติเฉพาะบ้านเรือนที่เสียหายทั้งหลัง และเสียหายมากครัวเรือนละ 5,000 บาท
•    จัดทำถุงยังชีพ และมอบไปแล้ว 92,361 ถุง ใน 13 จังหวัด คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 64,652,700 บาท

3.    กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ (พม.)
•    ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 151 ราย ๆ ละ 3,000 บาท เป็นเงิน 453,000 บาท  ตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2547

4.    กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย
•    เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยาง กรณีสวนยางประสบภัย รายละไม่เกิน 3,000 บาท

5.    องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
•    ให้ความช่วยเหลือประชาชนไปแล้ว จำนวน 180,957,628.94 บาท ซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชน ในเบื้องต้นได้ทันที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า
กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน อาจใช้เงินสะสมของ อปท. เพื่อช่วยเหลือตามความจำเป็นและเหมาะสม

6.    สำนักงบประมาณ
•    ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ประกอบด้วย
o    งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 92,400 ล้านบาท  
o    งบกลางรายการชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 2,000 ล้านบาท
กรณีหน่วยงานมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติ สามารถขอรับการจัดสรรจาก 2 ส่วนนี้ได้
นอกจากนั้น หน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ยังระดมความช่วยเหลือสู่พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง เช่น
•    กรมสรรพากร มีมาตรการการลดหย่อนภาษี
•    กรมสรรพสามิต ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ  โดยการขยายเวลายื่นแบบภาษี
•    กรมธนารักษ์ ยกเว้นค่าเช่าสำหรับผู้เช่าที่ราชพัสดุเป็นเวลา 1 ปี
•    กรมชลประทาน เร่งผลักดันน้ำจากพื้นที่ลุ่มต่ำออกไปสู่แม่น้ำสายหลักโดยเร็ว
•    กรมประชาสัมพันธ์ รายงานข้อมูล ข่าวสารด้านพยากรณ์อากาศ สถานการณ์น้ำในพื้นที่ ให้คำแนะนำ และสื่อสารช่องทางการติดต่อเพื่อขอรับความช่วยเหลือ

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำข้อมูลและมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเสนอให้ ครม. พิจารณาโดยด่วน    พร้อมระบุ สิ่งใดที่ทำได้ก่อน ขอให้ดำเนินการได้เลย โดยไม่ต้องรอน้ำลด ให้เร่งเข้าไปช่วยเหลือผู้ติดค้างอยู่ในบ้าน ผู้ป่วยติดเตียง พร้อมให้ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีทุกประเภท ทั้งภาพถ่ายดาวเทียมสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยา เพื่อให้ประชาชนที่ประสบภัยในขณะนี้ สามารถดำเนินชีวิตได้ต่อไป


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar