ต่ออายุโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากด้วย BCG

ภายหลังการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) หรือ APEC 2022 Thailand ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มีการผลักดัน “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” หรือ Bangkok Goals on BCG Economy ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุดของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ เป็นกรอบการดำเนินการกำหนดเป้าหมายร่วมกันเพื่อให้ภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก เจริญเติบโตอ ย่างเข้มแข็ง สมดุล มั่นคง และยั่งยืน ถือเป็นโอกาสแสดงศักยภาพของประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG และสร้างความตื่นตัวแก่คนในสังคมถึงทิศทางการเดินหน้าของประเทศโดยผ่านความร่วมมือ 4 ด้าน คือ 
1) การจัดการผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ 
2) การส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนและครอบคลุม 
3) การอนุรักษ์บริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยังยืน 
4) การบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน


BCG คืออะไร 
BCG Model (Bangkok Goals on BCG Economy) คือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนา 3 เศรษฐกิจ ไปพร้อมกัน ได้แก่
•    เศรษฐกิจชีวภาพ (BioEconomy)  การเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ผ่านการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม อย่าง วิสาหกิจชุมชนอารยะฟาร์ม จ.ร้อยเอ็ด แปรรูปข้าวหอมมะลิ เป็น เครื่องดื่มผงข้าวฮางงอก โจ๊กซองจากปลายข้าว ปุ๋ยชีวภาพ 
•    เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)  การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการหมุนเวียน อย่าง เก้าอี้ SCG ในงาน APEC หรือ กระเป๋าที่ทำจากผ้ายางคลุมรถบรรทุก หรือป้ายหาเสียง
•    เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)  การลดการปล่อยมลพิษจากกระบวนการผลิตหรือการประกอบกิจการ เช่น การใช้พลังงานสะอาดในการประกอบธุรกิจ / การเลี้ยงสัตว์ที่คำนึงถึงการปล่อยมลพิษสู่อากาศ หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงสุขภาพ ปั่นจักรยาน แทนการใช้รถนำเที่ยว
โดยด้านภาคเอกชนได้มีการขยายการลงทุนใน BCG ไปแล้ว    ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ อาทิ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการใช้นวัตกรรม การใช้พลังงานสะอาด การแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นสินค้ามูลค่าสูง อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพ ยาสมุนไพร เครื่องสำอาง พลังงาน เป็นต้น 

ครม.ต่ออายุโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากด้วยเศรษฐกิจ BCG อีก 6 เดือน
จากความสำเร็จของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้สร้างความมั่นใจและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่เกี่ยวข้องกับ BCG ควบคู่ไปกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจ EEC


ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 - 31 มีนาคม 2566 ทำให้โครงการมีระยะเวลา       รวมทั้งสิ้น 9 เดือน (จากเดิม กำหนดไว้ 3 เดือน ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม - 30 กันยายน 2565) โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณเดิมที่ได้รับอนุมัติไว้ทั้งสิ้น 3,565.84 ล้านบาท ซึ่งข้อมูล ณ 10 กันยายน 2565 มีการใช้จ่ายงบประมาณไปแล้วจำนวน 2,701.61 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.76 ของงบประมาณโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 
1) เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในพื้นที่ ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 
2) เพิ่มการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่ 
3) พัฒนากำลังคนให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบันและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ 
4) พัฒนาฐานข้อมูล Thailand Community Big Data ให้มีความสมบูรณ์ครอบคลุมในทุกพื้นที่ของประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายของโครงการ คือ บัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี ผู้ที่ถูกเลิกจ้างหรือประชาชนในพื้นที่ครอบคลุม 7,435 ตำบลทั่วประเทศ 

โดยการดำเนินโครงการจะขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมหลัก อาทิ 
1. กิจกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อเป็นการพัฒนา ส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการด้าน BCG ของชุมชนออกสู่ตลาดอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เช่น การพัฒนาสินค้าและบริการชุมชนให้ได้มาตรฐานด้วยองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การทำการตลาดและขายสินค้าในรูปแบบ online/offline ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์หรืออัตลักษณ์ของสินค้าและบริการ 
2. การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และส่งเสริมการใช้ประโยชน์และสนับสนุนการจัดทำข้อมูล TCD ให้สมบูรณ์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ และการถ่ายทอดการใช้ประโยชน์จาก TCD สำหรับผลการดำเนินการโครงการที่ผ่านมา มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 64,428 คน คิดเป็นร้อยละ 94.26 จากเป้าหมาย 68,350 คน โดยแบ่งเป็นบัณฑิตจบใหม่ จำนวน 32,420 คน และประชาชน จำนวน 32,008 คน เกิดกิจกรรม ในพื้นที่ รวม 15,631 โครงการทั่วประเทศ มีสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 98 แห่ง ทำหน้าที่เป็นผู้บูรณาการระบบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG  ในแต่ละพื้นที่ให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบาย BCG ของรัฐบาล เป็นไปเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ผู้ประกอบการทุกขนาด รวมถึงชุมชนระดับฐานราก โดยต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยหลังการประชุม APEC 2022 คาดการณ์ว่า จะมีการลงทุนภายใต้นโยบาย BCG ที่จะเกิดขึ้นตามมาในระยะต่อๆ ไปมากกว่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะเร่งยกระดับศักยภาพชุมชนและประชาชน เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากโอกาสนี้อย่างเต็มที่ ส่งผลประโยชน์ต่อไทย ในหลายมิติ โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิดให้เติบโตอย่างยั่งยืน ไทยจะได้ประโยชน์จากการนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ไปแลกเปลี่ยนในที่ประชุมเพื่อขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนในภูมิภาค
 


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar