ครม. อนุมัติปรับเพิ่มราคา “นมโรงเรียน”

ครม. มีมติอนุมัติปรับเพิ่มราคากลางในการจําหน่าย ผลิตภัณฑ์นม โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพิ่มขึ้นถุงหรือกล่องละ 0.31 บาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติอนุมัติเป็นต้นไป ดังนี้
•    นมโรงเรียนชนิดพาสเจอร์ไรส์ 
ราคากลางเดิม 6.58 บาท/ถุง 
ราคากลางใหม่ 6.89 บาท/ถุง


•    นมโรงเรียนชนิด ยู เอช ที 
ราคากลางเดิม 7.82 บาท/กล่อง 
ราคากลางใหม่ 8.13 บาท/กล่อง


      โครงการอาหารเสริม หรือ นมโรงเรียน เป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาขาดสารอาหารในเด็กวัยเรียนและสนับสนุนอุตสาหกรรมโคนมไทย โดยใช้น้ำนมดิบจากเกษตรกรในประเทศในการผลิตซึ่งปัจจุบันโครงการฯ ครอบคลุมนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาและจัดสรรนมโรงเรียนให้นักเรียนเป็นเวลา 260 วัน ต่อปีการศึกษา (นักเรียนจะได้นมโรงเรียนคนละ 1 ถุงหรือกล่องต่อวัน ไม่รวมเสาร์ - อาทิตย์ ตลอดช่วงเปิดเทอม) และรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อนมโรงเรียนดังกล่าว


     สำหรับการปรับเพิ่มราคากลางในการจําหน่ายนมโรงเรียนถุงหรือกล่องละ 0.31 บาท ในครั้งนี้  สืบเนื่องมาจากครม.วันที่ 23 ส.ค. 2565 ที่อนุมัติปรับราคารับซื้อน้ำนมโคจากเกษตรกรเพิ่มขึ้น 1.5 บาท /กก. เป็นไปตามต้นทุนการผลิตน้ำนมโคที่เพิ่มขึ้นจากค่าอาหารสัตว์ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่เกิดปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก และวิกฤตพลังงานสืบเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตนมโรงเรียนในส่วนของค่าน้ำนมโคเพิ่มขึ้น 


โดยการคํานวณราคากลางนมโรงเรียนใหม่ ยังสอดคล้องกับแนวทางการอนุญาตปรับราคานมพาณิชย์ ของกรมการค้าภายในที่อนุญาตให้ปรับราคาเฉพาะต้นทุนน้ำนมดิบ น้ำนมโค 1 กก. สามารถนําไปผลิตนมโรงเรียนได้ประมาณ 5 ถุง/กล่อง (ปริมาณ 200 กก./ถุง/กล่อง ต้นทุนการผลิตนมโรงเรียนเพิ่มขึ้นประมาณ 0.31 บาท/ถุง/กล่อง) เพิ่มขึ้นถุงหรือกล่องละ 0.31 บาท 


การปรับเพิ่มราคากลางนมโรงเรียน ในส่วนงบประมาณ สำหรับโครงการอาหารเสริม หรือ นมโรงเรียน ใน 4 หน่วยงาน ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำนักปลัด กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา จะมีภาระงบประมาณในปี 2566 เพิ่มขึ้นภาพรวม 301.5 ล้านบาท


ทั้งนี้ การปรับเพิ่มราคากลางจําหน่ายนมโรงเรียน ไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อนมโรงเรียน ในส่วนของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (เช่น ศูนย์เด็กเล็ก ) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และโรงเรียนเอกชน  ยังมีงบประมาณเพียงพอสำหรับบริหารจัดการ จําหน่ายนมโรงเรียน ในครั้งนี้ เนื่องจากมีจำนวนนักเรียนน้อยกว่าที่ประเมินไว้ในช่วงขอตั้งงบประมาณปี 2566 


ยกเว้น โรงเรียนในสังกัด กทม.และเมืองพัทยา ที่มีกรอบงบประมาณไม่เพียงพอ ครม.จึงมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานภายใต้ ปรับแผนปฏิบัติการหรือใช้งบประมาณของหน่วยงานมาดำเนินการก่อน หากยังไม่เพียงพอ จึงให้เสนอของบกลางจากสำนักงบประมาณต่อไป


การเก็บรักษานมโรงเรียน 

โดยส่วนใหญ่แล้วมี 2 ชนิด คือ นมยูเอชที(นมกล่อง) และนมพาสเจอร์ไรซ์ (นมถุง) ซึ่งทั้งสองชนิดผ่านกระบวนการผลิตและบรรจุที่ต่างกัน จึงทำให้วิธีการเก็บรักษาแตกต่างกันด้วย ซึ่งรายละเอียดมีดังนี้
นมยูเอชที (นมกล่อง) ซึ่งเป็นนมที่ผ่านความร้อนสูงถึง 135 องศาเซลเซียส ควรเก็บรักษาดังต่อไปนี้
     1. วางห่างจากแสง ความชื้น และวางซ้อนไม่เกิน 7 ชั้น
     2. ไม่ใช้ของมีคมกรีดกระดาษลัง
     3. ไม่แช่กระติกน้ำแข็ง หรือน้ำเย็น หรือตู้แช่ที่มีน้ำแข็ง

นมพาสเจอร์ไรซ์ (นมถุง) เป็นนมชนิดที่ผ่านความร้อนเพียง 72 องศาเซลเซียส
     1. เก็บนมในภาชนะเก็บความเย็นที่มีฝาปิด อุณหภูมิไม่เกิน 8 องศาเซลเซียส
     2. แจกนมให้เร็วที่สุด หลังได้รับนมไม่เกิน 9 ชั่วโมง
     3. ไม่เปิดฝาถังไว้นาน และไม่นำน้ำแข็งไปบริโภค


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar