การรับมือและความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาสาธารณภัย

สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้
     กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัด      ปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ในวันที่ 23 พ.ย. - 7 ธ.ค. 2564 ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พัทลุง สงขลา ตรัง และ นราธิวาส รวม 63 อำเภอ 281 ตำบล ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระแสง อำเภอเวียงสระ อำเภอเคียนซา อำเภอพุนพิน อำเภอบ้านนาสาร และ อำเภอบ้านนาเดิม รวม 16 ตำบล
     สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชน         กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมสรรพกำลัง ในการระบายน้ำออกจากพื้นที่และดูแลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784”   โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

เฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5
     ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ประกาศ PM2.5           ใน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวโน้มสูง วันที่ 6 - 9 ธ.ค. 2564 ได้แก่
1.    กรุงเทพฯ
2.    สมุทรปราการ
3.    สมุทรสาคร
4.    นครปฐม
5.    ปทุมธานี
6.    นนทบุรี
     ดังนั้นเพื่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ศกพ. ขอความร่วมมือ งดการเผาในที่โล่ง ใช้รถเท่าที่จำเป็น เฝ้าระวังรักษาสุขภาพอนามัย และตรวจสอบคุณภาพอากาศจาก Air4Thai ก่อนออกจากบ้าน หากอยู่บริเวณพื้นที่มีปริมาณ PM2.5 สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือ พื้นที่สีส้ม ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง และหากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์
     นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในช่วงเดือนระหว่างเดือน ธ.ค. – ก.พ. ของทุกปี เป็นช่วงหน้าหนาว สภาพอากาศแห้งและลมนิ่ง ทำให้มีการกระจายของฝุ่นละอองปกคลุมหนาเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ อันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก วัยเรียน และกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เสี่ยงต่อการได้รับมลพิษทางอากาศระดับสูง แต่สามารถป้องกันได้ โดยมีข้อปฏิบัติ 7 วิธี ดังนี้
1.    เลี่ยงทำกิจกรรมหรืองดออกกำลังกายกลางแจ้ง ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน
2.    สวมหน้ากากอนามัยทั้งแบบผ้าหรือแบบบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้าน หรือสวมหน้ากาก N95 เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเป็นเวลานานๆ
3.    ทำความสะอาดบ้านและโรงเรียนให้สะอาด ห้องปลอดฝุ่น
4.    ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น เช่น การจุดธูป, ปิ้งย่าง, เผาขยะ, เผาเศษใบไม้ เป็นต้น
5.    หากพบเด็กหรือบุคคลในครอบครัวมีอาการผิดปกติ เช่น    ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบพาไปพบแพทย์
6.    ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรเลี่ยงการออกนอกบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับมลพิษจากฝุ่น PM 2.5
7.    ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีอาการผิดปกติทางเดินหายใจควรพบแพทย์ทันที
     สามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทั้งแบบค่าเฉลี่ยรายชั่วโมง และแบบค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com    และ bangkokairquality.com  หรือทางแอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK  และติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์คุณภาพอากาศผ่านทาง Facebook “ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ”


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar