ยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Child safety seat)

      ครม. เห็นชอบการยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก “คาร์ซีท” (Child safety seat) โดยให้ยกเว้นอากรถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป จึงให้จัดเก็บอัตราอากร 20% ตามเดิม
     ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ Child safety seat (Car Seat) ถือเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับครอบครัวที่มีบุตรเล็ก คาร์ซีท เป็นเบาะที่นั่งที่ทำหน้าที่เหมือนเข็มขัดนิรภัยโดยใช้ระบบผูกรัดให้ติดกับเบาะนั่งของเด็ก ป้องกันไม่ให้เด็กกระเด็นจากเบาะ ไม่ว่าจะจากการเบรกอย่างแรง หรือ รถชน นอกจากนี้ยังสามารถดูดซับแรงกระแทกจากการชนได้บางส่วนด้วย ซึ่งจะช่วยให้ลดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของผู้โดยสารที่เป็นเด็กได้
     โดยปกติการนำเข้าคาร์ซีท ผู้นำเข้าจะต้องจ่ายภาษีนำเข้า ร้อยละ 20 แต่หากนำเข้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ประเทศไทยมีอยู่ก็จะสามารถใช้สิทธิพิเศษยกเว้นอากรขาเข้าได้สำหรับทุกความตกลง แต่ภายหลังจากประกาศฉบับนี้มีผล จะสามารถนำเข้าโดยปลอดภาษีจากทุกประเทศ ในช่วงเวลาที่กำหนด

 

กลไกราคาตลาด Car Seat (Child safety seat)


     ในปัจจุบันตลาดที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ เยอรมัน อังกฤษ เกาหลี รวมถึง ญี่ปุ่น แต่ในประเทศไทยผู้ประกอบการที่ผลิตที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กยังมีปริมาณที่น้อย ซึ่งสวนทางกับปริมาณความต้องการใช้ที่นั่งนิรภัยเพิ่มมากขึ้นทำให้กำลังการผลิตไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องมีการนำเข้าคาร์ซีทจากต่างประเทศ
      นอกจากนี้การลดอัตราอากรขาเข้าสำหรับที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car Seat) เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อสนับสนุนการลดราคาให้กับผู้บริโภค จะทำให้ผู้ประกอบการภายในประเทศสามารถประเมินศักยภาพในการผลิตและความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจ
     ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับจากการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับสินค้า ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car seat) เฉพาะที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก โดยประมาณการจากมูลค่า อากรขาเข้าที่จัดเก็บตั้งแต่ปี 2562 -2565 คาดว่าจะมีการสูญเสียรายได้เฉลี่ยประมาณ 555,000 บาทต่อปี

 

คาร์ซีท สินค้า Watch List


     กรมการค้าภายในได้กำหนดให้สินค้า คาร์ซีท เป็นหนึ่งในสินค้าที่ติดตามดูแล (Watch List) ประจำเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการติดตามสถานการณ์ราคาจำหน่ายอย่างใกล้ชิด กรณีที่มีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar