เตรียมรับมือพายุ "โนรู" และการบริหารจัดการป้องกันน้ำท่วม - น้ำแล้งอย่างเป็นระบบ

จากสถานการณ์พายุไต้ฝุ่น “โนรู (NORU)” ที่เคลื่อนตัวจากทะเลจีนใต้ เข้าสู่ประเทศเวียดนามในวันที่ 28 ก.ย. 65 และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนเคลื่อนผ่านประเทศลาวตอนล่าง และปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยบริเวณจังหวัดอำนาจเจริญ และอุบลราชธานีในวันที่ 29 ก.ย.65 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำ ลักษณะดังกล่าวส่งผลให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ตั้งแต่ 27 ก.ย.-1 ต.ค. 65

พื้นที่เฝ้าระวังผลกระทบจากพายุโนรู

พื้นที่เฝ้าระวังผลกระทบจากพายุโนรู ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และอีกหลายพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล เพราะปริมาณน้ำในลำน้ำขณะนี้หลายจุดเกินความจุจนส่งผลให้บางพื้นที่มีน้ำท่วม และหากมีฝนจากพายุเข้ามาอีกจะทำให้มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมเพิ่มขึ้น โดยจังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้

วันที่ 27 - 28 กันยายน 2565

•    ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดสกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
•    ภาคกลาง: จังหวัดลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
•    ภาคตะวันออก: จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
•    ภาคใต้: จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

วันที่ 29 กันยายน 2565

•    ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
•    ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
•    ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

•    ภาคตะวันออก: จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
•    ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

วันที่ 30 กันยายน 2565

•    ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
•    ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย ชัยภูมิ ขอนแก่น และนครราชสีมา
•    ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
•    ภาคตะวันออก: จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
•    ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา และภูเก็ต
   สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 27 กันยายน - 1 ตุลาคม 2565

เปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์พายุไต้ฝุ่น “โนรู”

รัฐบาลเปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์พายุไต้ฝุ่น “โนรู” เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์พายุ ร่วมกับศูนย์อุตุนิยมวิทยาภูมิภาคทั้ง 5 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์อุตุนิยมวิทยา จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดสงขลา และจังหวัดภูเก็ต ขณะเดียวกันยังได้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  กรมชลประทาน และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการบริหารจัดการพื้นที่ แก้ปัญหาการระบายน้ำ รวมทั้งแจ้งเตือนสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบ
ทางด้านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากพายุโนรู กำชับการดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของจังหวัดอย่างเคร่งครัด พร้อมจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ เน้นย้ำติดตามสถานการณ์พายุโนรูและปริมาณน้ำอย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชม. โดยเฉพาะพื้นที่มีปริมาณฝนตกสะสมและมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อยู่แล้ว


ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่ แอปพลิเคชัน "THAI DISASTER ALERT" และหากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ "ปภ.รับแจ้งเหตุ1784" โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง และ Facebook : กรมอุตุนิยมวิทยา สายด่วน 1182 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามข่าวสารจากสถานการณ์พายุไต้ฝุ่นโนรูต่อไป ขณะเดียวกัน ครม. อนุมัติโครงการเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและเตรียมพร้อมสำหรับภัยแล้ง 2 โครงการ ดังนี้
          1. โครงการจัดหาเครื่องสูบน้ำแบบชนิดเคลื่อนที่เร็วขนาดท่อส่งไม่น้อยกว่า 42 นิ้ว จำนวน 30 เครื่อง โดยกรมชลประทานจะบริหารจัดการหมุนเวียนไปในพื้นที่ที่มีความจำเป็น
          2. โครงการแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อการอุปโภคบริโภคด้วยระบบ Water treatment system เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง เพื่อผลิตน้ำประปาสำหรับอุปโภคบริโภค (พื้นที่ จ.สุพรรณบุรี)


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar