รัฐบาลกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ด้วยการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งกลุ่มโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร สายการบิน การขนส่งและรถโดยสาร ไปจนถึงแรงงานที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว 4.4 ล้านคน เริ่มส่งสัญญานชัดเจนโดยเฉพาะปลายปี 2565 ประเทศไทยมีตัวเลขการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศทะลุเป้าหมาย 10 ล้านคน  ซึ่งทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ หากแต่ต้องมีการวางแผนและดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การเปิดประเทศของไทยมีความปลอดภัยและได้รับการยอมรับจนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จากทั่วทุกมุมโลก 

นำร่อง Phuket Sandbox ต้นแบบการเปิดประเทศที่นานาชาติชื่นชม

ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาคการท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจาก 40 ล้านคนในปี 2562 เหลือแค่ 6.7 ล้านคนในปี 2563 ประกอบกับมาตรการด้านสาธารณสุขที่นำมาใช้ ทั้งการล็อกดาวน์งดการเดินทาง การปิดร้านอาหาร สถานบริการต่าง ๆ ทำให้ผู้ประกอบการและแรงงานที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ดีหลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายภาครัฐได้มีแผนในการฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การเริ่มฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในภาคบริการ ผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ ไปจนถึงผู้ที่อยู่ในสถานประกอบการร้านอาหารที่พัก เพื่อให้กลุ่มนี้มีความพร้อมในการรองรับการท่องเที่ยวและบริการ เมื่อคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องสัมผัสกับนักท่องเที่ยวมีความพร้อม รัฐบาลได้นำร่องเปิดประเทศโดยเริ่มต้นจาก จ.ภูเก็ต หรือที่เรียกว่า Phuket Sandbox เพื่อให้เป็น ‘พื้นที่นำร่อง’ หรือ ‘กระบะทรายกันเจ็บ’ ทดลองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดส โดยไม่ต้องกักตัว 14 วันแต่ยังให้อยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จนต่อมาได้ขยายไปในพื้นที่อื่น ๆ เช่น เกาะสมุย และพื้นที่สีฟ้าที่เป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวในหลายจังหวัด

เมื่อเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ประกอบกับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเริ่มกลับมาคึกคักการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันทำ SHA หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย โดยนำมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขผนวกกับมาตรฐานการให้บริการที่มีคุณภาพของสถานประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวว่าทุกคนจะได้รับประสบการณ์ที่ดี มีความสุข และความปลอดภัยด้านสุขอนามัยจากสินค้าและบริการประเทศไทย แต่เมื่อประเทศไทยเข้าสู่การระบาดระลอกใหม่แน่นอนว่า SHA จึงไม่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ดังนั้น SHA Plus+ เลยเข้ามาเสริมทัพเพื่อให้ธุรกิจร้านอาหารและท่องเที่ยวได้ไปต่อเงื่อนไขสำคัญของการได้มาซึ่งสัญลักษณ์ SHA Plus+ นี้มีเพียง 2 ข้อหลักๆ นั่นคือ สถานประกอบการนั้นๆ จะต้องได้รับสัญลักษณ์ SHA มาก่อน และ 70% ของบุคคลากรของสถานประกอบการได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ซึ่งสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ได้ ซึ่ง SHA Plus+  เป็นโครงการที่มี “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เป็นโมเดลนำร่องอีกด้วย

ท่ามกลางสถานการณ์ภายนอกที่ยังพบการระบาดอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยยังสามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติด้วยระบบ Thailand Pass เป็นระบบการลงทะเบียนสำหรับการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยมีมาตรการรองรับการเดินทางเข้าประเทศ 3 รูปแบบคือ Test and Go (ไม่ต้องกักตัว) / Alternative Quarantine (AQ) 5 วัน / การเข้า Sandbox ในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว การดำเนินการดังกล่าวทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างการรับรู้และจดจำในเวทีโลกได้ว่า การท่องเที่ยวของประเทศไทยพร้อมแล้วสำหรับการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก

เปิดประเทศเต็มรูปแบบทะลุเป้าหมาย 10 ล้านคน ในปี 2565

รัฐบาลประกาศวันที่ 1 พ.ค. 2565 เริ่มต้นเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบด้วยการ ยกเลิกระบบ Test & Go เปลี่ยนเป็นการตรวจ ATK ซึ่งทำให้สะดวกรวดเร็วสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว การผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศของไทย เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้เพราะไทยเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว อีกทั้งยังสอดคล้องกับหลายประเทศมีการผ่อนคลายและปรับมาตรการแล้ว อย่างไรก็ตามการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจการท่องเที่ยวล่าสุดของไทย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศจำนวน 10.3 ล้านคนแล้ว ซึ่งทะลุเป้าหมาย 10 ล้านคนที่วางไว้ในปี 2565 ที่ผ่านมา
สถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับ
• มาเลเซีย  อินเดีย  สิงคโปร์ ลาว เวียดนาม
เมื่อแยกเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวรายด่าน พบว่า 5 อันดับแรก
• ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
• ท่าอากาศยานภูเก็ต
• ท่าอากาศยานดอนเมือง
• ด่านทางบก ตม. จังหวัดสงขลา (สะเดา)
• ด่านทางบก ตม. จังหวัดหนองคาย 

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้พ้นวิกฤติและพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว

ในช่วง 2 ปีที่ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวสูญเสียรายได้ หลายธุรกิจอยู่รอดได้การปรับตัวและมาตรการสนับสนุนผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้มีสภาพคล่องในการประคับประคองธุรกิจ และมีเงินทุนสำหรับปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจของตัวเองให้มีความพร้อมที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง เราเที่ยวด้วยกัน นับเป็นโครงการสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และทำให้เกิดการใช้จ่ายเงินในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทั้งระบบ เช่น การสนับสนุนค่าที่พัก 40% พร้อมกับสนับสนุนเงินให้ใช้จ่ายในร้านค้าร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ และการสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินในประเทศเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ประกอบการไปจนถึงแรงงานในภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาฟื้นตัวและขับเคลื่อนธุรกิจได้อีกครั้ง

สินเชื่อ SMEs Re-Start โดย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือSME D Bank วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ที่มาช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และเติมทุนให้กับเหล่าผู้ประกอบการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยว ให้มีเงินหมุนเวียนและเพียงพอต่อการสำรองค่าใช้จ่ายต่อลมหายใจให้กับธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ได้มีเงินทุนสำหรับปรับปรุงโรงแรม ร้านอาหาร การบริการให้พร้อมรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับเข้ามาในอนาคต
ททท. เพิ่มเป้าดึงต่างชาติเที่ยวไทยปี 2566 

ในปี 2566 นอกจากการเปิดประเทศเพิ่มขึ้นของหลายประเทศ ยังมีข่าวดีสำหรับประเทศไทยเมื่อรัฐบาลจีนประกาศยกเลิกมาตรการกักกันโรคโควิดนักเดินทาง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศไทยและเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาจีนเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญทั้งด้านการท่องเที่ยวและการลงทุนของไทย
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่าอุสาหกรรมท่องเที่ยวปี 2566 กลับมาได้ 80% ของปี 2562 โดยจะรายได้ประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท และตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาได้ 50% หรือประมาณ 20 ล้านคนเมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนเกิดโควิดในปี 2562 

ปี 2566 ปีแห่งการเริ่มต้นพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย 

ททท.กระตุ้นความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ ใน ปีท่องเที่ยวไทย 2566 หรือ Visit Thailand Year 2023 : Amazing New Chapters เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางที่มีความหมายและทรงคุณค่าให้กับนักท่องเที่ยว ด้วยการนำเสนอ Soft Power of Thailand คือ 5F ได้แก่ Food Film Fashion Festival Fight โดยได้วางแผนกระตุ้นตลาดในประเทศ ด้วยแคมเปญสื่อสาร “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” พร้อมต่อยอดทิศทางส่งเสริมตลาด 5 ภูมิภาคของประเทศไทย ชูเอกลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค โดยเน้นแนวคิด “การท่องเที่ยวไทยเที่ยวได้ทุกวัน” นำเสนอผ่านแคมเปญ “365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย...เที่ยวได้ทุกวัน” เพื่อเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายและเพิ่มวันพักค้าง 

สำหรับตลาดต่างประเทศ จะมุ่งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ท่องเที่ยวได้ทั้งปี และจะขยายตลาดใหม่ เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รวมถึงขยายพื้นที่ใหม่ไปยังเมืองรอง มุ่งเน้นฐานตลาดกลุ่มกระแสหลัก เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว คุณภาพ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม กระตุ้นกลุ่ม Revisit และ Quality มุ่งเพิ่มจำนวนความถี่และกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจพิเศษ และ การทำตลาดใน 5 News (New segment New area New partner New infrastructure New way) ททท. ได้ตั้งเป้าหมายให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับมาร้อยละ 80 โดยคาดว่าจะมีรายได้รวมอยู่ที่ 2.38 ล้านล้านบาท จากตลาดต่างประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท และตลาดในประเทศ 880,000 ล้านบาทในปี 2566

การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

เน้นเพิ่มสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ รายได้สูง และมุ่งเน้นให้การท่องเที่ยวมีมูลค่าเพิ่ม โดยจะแบ่งเป็นกลุ่มตลาดและทำการตลาดให้ตรงกับกลุ่มของลูกค้า ผ่านการทำตลาดด้วยเทคโนโลยีในการประยุกต์การตลาดแบบสร้างเรื่องเล่า (สตอรี่) พิเศษเฉพาะขึ้นมามากกว่าการขายตรงที่ตัวแหล่งท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เพื่อมอบประสบการณ์ที่แตกต่างกัน อาทิ แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นทะเลเหมือนกัน แต่จะสร้างเรื่องราวที่มีความพิเศษของทะเลแต่ละพื้นที่ ว่าทำไมจะต้องไปเที่ยวทะเลเหล่านั้น เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ในรูปแบบใด รวมถึงสนับสนุนการท่องเที่ยวให้มีความหลากหลายและเพิ่มมูลค่า อาทิ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ และเต็มใจจ่ายด้วยราคาสูง ซึ่งจะเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม


image รูปภาพ
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar