31 พฤษภาคม 'วันงดสูบบุหรี่โลก'

31 พฤษภาคม วันงดสูบบุหรี่โลก

 

วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) เนื่องจากเล็งเห็นอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพของผู้สูบบุหรี่ และผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่

ในปีนี้องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นของการรณรงค์ไว้ว่า “Grow food, not tobacco” เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบันที่ประเทศไทยเกิดการแพร่ระบาดของ บุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และภาคีเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบ จึงกำหนดคำขวัญรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2566 คือ “บุหรี่ไฟฟ้า มีสารพิษ เสพติด อันตราย”

 


โรงพยาบาลสงฆ์ รณรงค์การลด ละ เลิกบุหรี่ในพระสงฆ์เพื่อสุขภาพ

 

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า บุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญทั้งด้านสังคมและสุขภาพ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่าประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มีทั้งสิ้น 57 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน ผู้ชายจะสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิงถึง 20 เท่า ซึ่งในแต่ละปีพบผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่เป็นจำนวนมาก

ด้าน นายแพทย์อภิชัย สิรกุลจิรา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การสูบบุหรี่ในพระสงฆ์นั้น จากข้อมูลสถิติของโรงพยาบาลสงฆ์ ปี 2564 – 2566 พบว่า มีพระสงฆ์เข้าร่วมโครงการคลินิกเลิกบุหรี่จำนวน 473 รูป และเลิกสำเร็จจำนวน 185 รูป มีการติดตามผลการให้คำปรึกษา 1 เดือน จำนวน 447 รูป ติดตามผลการให้คำปรึกษา 3 เดือน จำนวน 247 รูป และติดตามผลการให้คำปรึกษา 6 เดือน จำนวน 224 รูป โดยบุคลากรทางการแพทย์ และทีมสหสาขาวิชาชีพ

อีกทั้งยังถวายคำปรึกษาในผู้ป่วยใน จำนวน 28 รูป ปัจจุบันคลินิกเลิกบุหรี่โรงพยาบาลสงฆ์ได้รณรงค์ในพระสงฆ์ลด ละ เลิกด้วยวิธีการถวายนิโคตินทดแทน ได้แก่ หมากฝรั่งที่มีส่วนผสมนิโคติน โดยการให้สารนิโคตินในระดับต่ำเพื่อระงับการขาดนิโคติน การใช้น้ำยาบ้วนปาก ซึ่งจะทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไป และการใช้ยารับประทานสำหรับเลิกบุหรี่ เพื่อให้พระสงฆ์สามเณรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบและสามารถเลิกบุหรี่ได้ในที่สุด

 

 


องค์การเภสัชกรรม วิจัยพัฒนายาเม็ดเลิกบุหรี่ ลดเวลารักษา 3-4 เท่า คาดผลิตออกสู่ตลาดได้ต้นปี 2567

พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค.2566 ว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ถึง 9.9 ล้านคน และเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ด้วยโรคต่างๆ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร ถุงลมโป่งพอง และโรคหัวใจ สำหรับการเลิกบุหรี่ในประเทศไทย มียา 5 รายการ ที่ใช้ ได้แก่ ยาเม็ด Varenicline ยาเม็ด Bupropion , นิโคตินทดแทน ยาเม็ด nortriptyline และยาชงสมุนไพรหญ้าดอกขาว โดยปัจจุบันมีเพียงยา 2 รายการ ที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้แก่ ยาเม็ด nortriptyline และยาชงสมุนไพรหญ้าดอกขาว

ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยผู้ที่ติดบุหรี่ให้เข้าถึงยาเลิกสูบบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพ และช่วยลดการเกิดโรคองค์การเภสัชกรรม ได้วิจัยและพัฒนายาเลิกสูบบุหรี่ชนิดใหม่ คือ ยาเม็ด ไซทิซิน จีพีโอ ขนาด 1.5 มิลลิกรัม ได้เป็นรายแรกในประเทศไทย เป็นยาเม็ดที่เกิดจากความร่วมมือขององค์การเภสัชกรรม กับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ศึกษาวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ ได้ผลการวิจัยมีความปลอดภัย และมีประสิทธิผลดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเภทยาควบคุมพิเศษ ที่จำหน่ายได้ในสถานพยาบาลเท่านั้น

ทั้งนี้ หากเปลี่ยนมาใช้ยาเม็ดไซทิซิน จีพีโอ ในการรักษาแทนการรักษาในปัจจุบันที่ใช้ยาเม็ด Varenicline จะทำให้ประหยัดงบประมาณค่ายาต่อคอร์สและลดระยะเวลาในการรักษาได้ 3-4 เท่า รวมทั้งลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ประมาณ 12 ล้านบาทต่อปี โดยองค์การเภสัชกรรม จะเริ่มผลิตจำหน่ายยาในเดือน มกราคม 2567 การมียาเลิกบุหรี่คุณภาพดีและราคาถูก ผลิตได้เองนี้นับเป็นก้าวสำคัญของการเลิกบุหรี่ในประเทศไทยที่จะช่วยให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นต่อไป


image รูปภาพ
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar