จับตา ตลาดเงินโลกอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

กระทรวงการคลัง ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกและความผันผวนของนโยบายทางการเงินและตลาดเงินโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า “เศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.3 ถึง 3.3) โดยปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะยังสามารถขยายตัวได้ และภาคการท่องเที่ยวคาดว่า ในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 33.5 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ19.5 ต่อปี เป็นการเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและมาเลเซียเป็นสำคัญ และมีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 1.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 ต่อปีส่งผลดีต่อธุรกิจ การท่องเที่ยวและสาขาที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น คาดว่า การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวชะลอตัวลงเล็กน้อย ตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวชะลอตัวลง ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ ร้อยละ 4.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.7 ถึง 4.7) และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 ถึง 4.5) ในขณะที่รายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลคาดว่าจะเบิกจ่ายได้คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายที่ร้อยละ 99.5 และ 64.0 ตามลำดับ รายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายอัตราลดลงจากปีก่อนหน้าเนื่องจากความล่าช้า ในการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพในระยะยาวนั้น ควรให้ความสำคัญใน 3 ประเด็น ดังนี้

1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Development) เช่น การพัฒนาการใช้พลังงานที่ยั่งยืน การลงทุนในด้านดิจิทัล และการพัฒนาด้านคมนาคมเชื่อมโยง ภูมิภาคต่าง ๆ จะช่วยสร้างโอกาสใหม่ ๆ และทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางในระดับภูมิภาคได้

2) การพัฒนาทักษะ (Skills Development) การเตรียมแรงงานให้มีทักษะที่จำเป็น สำหรับเศรษฐกิจโลกมีความสำคัญและจะส่งเสริมความสำเร็จในระยะยาวได้ดี

3) การรักษาเสถียรภาพทางการคลัง (Fiscal Stability) มุ่งมั่น ในการบริหารจัดการการคลังอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงการใช้จ่ายของรัฐและระดับหนี้สาธารณะอย่างรับผิดชอบ เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการเงินในระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคตได้

นอกจากนี้ยังควรติดตามปัจจัยสำคัญ ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ

1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่อาจรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ สถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น และความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

2) สถานการณ์การเลือกตั้งผู้นำของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศรัสเซีย และประเทศอินเดีย เป็นต้น ที่อาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของไทย

3) ความผันผวนของตลาด การเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

4) สถานการณ์เศรษฐกิจของจีน ที่อาจส่งผลต่อการส่งออก และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทย

รัฐบาลยืนยันเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต แม้ไม่ทัน พ.ค.นี้

 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวชี้แจงข้อสงสัยต่อกรณี โครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล โดยยอมรับว่า คณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ได้เลื่อนการประชุมเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 เนื่องจากมีเอกสารข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงเห็นว่าควรเลื่อนการประชุมก่อน รอให้เอกสารของ ป.ป.ช. มาถึง เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการต่อไป

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า ดูจากกรอบเวลาแล้ว โครงการไม่น่าทันเดือน พ.ค. รัฐบาลยืนยันเราต้องเดินหน้านโยบายเงินดิจิทัลต่อไป ถึงแม้จะไม่สามารถยืนยันกรอบเวลาในเดือน พ.ค. ได้ หลังจาก ป.ป.ช.ส่งเอกสารความเห็นมา ต่อไปจะเชิญคณะกรรมการนโยบายฯ มาประชุมอีกครั้ง จึงจะเริ่มกระบวนการฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมในการทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่ยังไม่เห็นถึงเจตนาดีที่รัฐบาลพยายามจะทำ เราต้องสื่อสารจนทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน จนเราเดินหน้านโยบายนี้ได้ในที่สุด

กลไกแหล่งที่มาของเงินทุนจะเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ หรือวิธีอื่น ระหว่างนี้รอความชัดเจนของเอกสาร และการปรับความเข้าใจให้ตรงกันของหน่วยงานต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถ้ามีการมองว่าไม่ใช่วิกฤต ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายฯ ต้องทำความเข้าใจ เอาข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และเป็นจริงนำเสนอต่อหน่วยงานเหล่านั้น

ทั้งนี้ ยังไม่มีแผนสำรองในกรณีที่โครงการไปต่อไม่ได้ และยังไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาดำเนินการ ส่วนเรื่องการถอยนั้น ยอมรับว่า ได้มีการปรับลดวงเงินมาแล้วครั้งหนึ่งหลังจากมีความเห็นของหลายหน่วยงานมา อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอการประชุมของคณะกรรมการนโยบายฯ อีกครั้ง จนกระทั่งมีความเห็นจากบางหน่วยงานแล้วจึงกำหนดแนวทางในการเดินหน้าต่อ


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar