150 วัน ผลงานรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน 'ผลิดอก ออกผล เติบโต'

เดินหน้าเจรจาความร่วมมือต่างประเทศ 

•    เปิดภารกิจ Switzerland นายกฯ ดึง 14 เอกชนยักษ์ใหญ่ลงทุนในไทย  
    (15 - 19 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum 2024 (WEF2024) ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นการประชุมในระดับผู้นำครั้งแรกของไทยในรอบ 12 ปี และเป็นการเดินทางเยือนภูมิภาคยุโรปครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้พบกับผู้นำจากทั่วโลก เพื่อแสดงความพร้อมของไทยที่จะร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับ 
14 ภาคธุรกิจชั้นนำระดับโลก เช่น 
-    หารือกับประธาน Bank of America และ CEO ของ Merrill Lynch International (สถาบันการเงิน) เพื่อหาแนวทางส่งเสริมบริษัทไทยไปลงทุนต่างประเทศ และจัด Roadshow ร่วมกัน
-    หารือ กับ Sultan Ahmed bin Sulayem ประธานกลุ่มบริษัท และผู้บริหารของบริษัท DP World ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือ ซึ่งเป็น Operator ของท่าเรือแหลมฉบัง
ได้แสดงเจตจำนงชัดเจนจะมาลงทุนในโครงการ Landbridge พร้อมเดินทางมาหารือที่ไทย และสำรวจสถานที่จริง
-    หารือกับผู้บริหาร HSBC (ธนาคารฮ่องกง) เพิ่มการทำงานร่วมกับไทย และจัด Roadshow ร่วมกัน
-    หารือ ผู้บริหารสโมสร Manchester United เชิญนักแตะแมนเชสเตอร์ มาร่วมแข่งขันที่ไทยอีกครั้ง
-    หารือ Coca Cola (บริษัทเครื่องดื่ม) เกี่ยวกับแผนขยายการลงทุนในไทย ซึ่งไทยพร้อมเป็น Regional Hub บวกกับแนวความคิด Water Resilience เพื่อสร้างความสมดุลปริมาณน้ำในธรรมชาติ 
-    หารือ Telenor (บริษัทโทรคมนาคม) ส่งเสริม Startup ของไทยด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ประสบความสำเร็จระดับ Unicorn
ร่วมหารือทวิภาคีผู้นำประเทศต่าง ๆ  ในช่วงการประชุม World Economic Forum 2024 อาทิ  
-    หารือกับ นายกรัฐมนตรีเบลเยียม เกี่ยวกับเรื่องเที่ยวบินตรงระหว่างกัน การยกระดับหนังสือเดินทางไทยให้ขอวีซ่า และเดินทางเข้ายุโรปได้ง่ายขึ้น รวมถึงเรื่อง FTA ไทย - อียู
-    หารือกับ ประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ ถึงความตั้งใจที่จะบรรลุความตกลง FTA ให้ได้ในปีนี้ พร้อมสานต่อความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดผ่านโครงการ E-bus 
-    หารือกับ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เรื่องการเยือนไทย (7 ก.พ. 67) และประเด็นการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ซึ่งได้มีการพูดคุยและตั้งคณะทำงานร่วมกันอย่างชัดเจน โดยทั้งสองฝ่ายเข้าใจถึงปัญหาและยินดีร่วมมือในการแก้ปัญหาดังกล่าว
-    หารือกับประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เห็นพ้องในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี และความเชื่อมโยงระหว่างกัน ทั้งในระดับประชาชนและเศรษฐกิจ 

ไทย-ศรีลังกา ลงนาม ยกระดับ 3 ความร่วมมือ การค้า-การเดินอากาศ-การพัฒนาอัญมณี

    (3 ก.พ. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงการคลัง เป็นสักขีพยานร่วมกับนายรานิล วิกรมสิงเห ประธานาธิบดีศรีลังกา ในการลงนามความร่วมมือ 3 ฉบับ เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยง ผ่าน FTA ไทย-ศรีลังกา MOU การเดินอากาศ และการพัฒนาอัญมณี 
MOU 3 ฉบับ ประกอบด้วย 
1.    ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ศรีลังกา โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และนายกัจจกธุเค นลิน รุวันชีวะ เฟอร์นานโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ การค้า และความมั่นคงทางอาหาร เป็นผู้ลงนามฝ่ายศรีลังกา
2.    ร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศฉบับใหม่ระหว่างไทยและศรีลังกา จัดทำขึ้นเพื่อแทนที่และยกเลิกความตกลงฯ ฉบับที่ลงนามเมื่อวันที่ 24 กพ. 2493 โดยจะลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวก
ด้านการค้า การบริการทางอากาศระหว่างทั้งสองประเทศ สิทธิทางการบิน ความปลอดภัย ศุลกากร ฯลฯ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยฝ่ายไทยมี
นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ลงนาม และนายนิเลตตี นิมัล สิริปาละ เด ซิลวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่าเรือและการขนส่งทางทะเล เป็นผู้ลงนามฝ่ายศรีลังกา
3.    บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับ The Gem and Jewellery Research and Training Institute of Sri Lanka เพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาอัญมณีและส่งเสริมการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งไทยสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบและแหล่งอัญมณี รวมทั้งการแลกเปลี่ยนและฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องของ
ทั้งสองฝ่าย โดยมีนายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และ นาย บี. จี. อาร์. ดับเบิลยู. กัมลัต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและฝึกอบรมอัญมณีและเครื่องประดับแห่งศรีลังกา เป็นผู้ลงนามฝ่ายศรีลังกา

 

ไทย-ศรีลังกา เน้นย้ำถึงศักยภาพระหว่างกัน

-    โดยไทยเชื่อว่าการลงนาม FTA จะช่วยกระตุ้นการค้าและการลงทุนให้มากขึ้น และการลงนาม MOU อีก 2 ฉบับ ทั้งด้านการบินและการพัฒนาอัญมณี จะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยง การท่องเที่ยว และการขนส่งในอนาคต 
-    ด้านการลงทุน ไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยโครงการ Landbridge ซึ่งเชื่อมโยงทะเลอันดามันกับอ่าวไทย และลดระยะเวลาการขนส่งระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยไทยและศรีลังกาสามารถร่วมมือกันในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงและโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านโครงการ Landbridge ของไทย และท่าเรือโคลัมโบของศรีลังกา
-    ด้านการท่องเที่ยว ไทยยินดีที่การบินไทยจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ระหว่างกรุงเทพฯ และโคลัมโบ (เมืองหลวงของศรีลังกา) ทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้
ทั้งสองประเทศใกล้ชิดกันมากขึ้น นอกจากนี้ ไทยยังเสนอความร่วมมือไตรภาคีเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทางเรือสามประเทศ ระหว่างอินเดีย ศรีลังกา และไทย รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและพุทธศาสนาระหว่างกัน
-    ด้านการพัฒนา ไทยสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของศรีลังกา โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและการประมง และยินดีที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสำเร็จของการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญในด้านการเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูน และโครงการในด้านสวัสดิภาพและถิ่นที่อยู่ของช้างระหว่างกัน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมการอำนวยความสะดวกของศรีลังกาในการส่งพลายศักดิ์สุรินทร์กลับประเทศ เพื่อรับการรักษาพยาบาลเมื่อปีที่แล้ว และขอบคุณการดูแลช้างไทยอีกสองเชือก ซึ่งช้างนับเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพและความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างไทย-ศรีลังกา

 

ปิดดีล FTA ไทย-ศรีลังกา ฉบับที่ 15 ดันส่งออกไทยบุกตลาดเอเชียใต้

    รัฐบาลไทยและศรีลังการ่วมลงนามความตกลงการค้าเสรีไทย - ศรีลังกา (Thailand - Sri Lanka Free Trade Agreement) สำเร็จ ในการเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างวันที่ 3 - 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ส่งผลให้
มีการเปิดตลาดสินค้าที่เท่าเทียมกันกว่าร้อยละ 85 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด และมีระยะเวลาในการลด/ยกเว้นอากรในเวลา 16 ปี นับจากความตกลงมีผลบังคับใช้ โดยสินค้าที่ศรีลังกาจะยกเว้นอากรให้ทันทีคิดเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด หรือกว่า 4,000 รายการ นอกจากนี้ ศรีลังกาจะเปิดให้ไทยถือหุ้นในสาขาบริการได้ถึงร้อยละ 100 ใน 50 สาขา และถือหุ้นในภาคการลงทุนได้ถึงร้อยละ 100 
ใน 35 สาขา โดยรัฐบาลพร้อมเดินหน้าสนับสนุนการใช้ประโยชน์จาก FTA ไทย - ศรีลังกา ให้เต็มศักยภาพ 

 

เร่งเดินหน้าทำประชาพิจารณ์ ผลักดันให้มีผลภายในปี 67

    รัฐบาลเร่งเดินหน้าทำประชาพิจารณ์เพื่อรวบรวมความเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนเสนอรัฐสภาเห็นชอบ โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2567 นอกจากนี้ รัฐบาลเดินหน้าสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยใช้ประโยชน์จาก FTA ไทย – ศรีลังกา ผ่านการจัดงาน  Sri Lanka – Thailand Business Networking ภายใต้หัวข้อ “สำรวจช่องทางตลาดและเปิดประตูการค้าการลงทุนสู่ศรีลังกา” ซึ่งเป็นกิจกรรมปฐมฤกษ์ 
kick off การใช้ประโยชน์จาก FTA ไทย - ศรีลังกา ส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน ภายหลังการลงนาม FTA 
    ทั้งนี้ ความตกลงการค้าเสรีไทย – ศรีลังกา นับเป็น FTA ฉบับแรกภายใต้รัฐบาลของนายเศรษฐา 
ทวีสิน และฉบับที่ 15 ของไทย โดยศรีลังกาเป็นประเทศที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียใต้ (ประเทศแรก คือ อินเดีย) ทำให้ปัจจุบันไทยมี FTA รวมทั้งหมด 15 ฉบับ กับ 19 ประเทศ 

 

นายกฯ ไทย-กัมพูชา ลงนาม MOU 5 ฉบับ ยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์”

    (7 ก.พ. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และสมเด็จ
มหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ (MOU) 5 ฉบับ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” 
ไทย- กัมพูชา แลกเปลี่ยน MOU 5 ฉบับ ประกอบด้วย
1. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการรับมือเหตุฉุกเฉินระหว่างไทยกับกัมพูชา 
2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกัมพูชา 
3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าระหว่างกรมศุลกากรแห่งราชอาณาจักรไทยและกรมศุลกากรและสรรพสามิตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา 
4. บันทึกความเข้าใจระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชา 
5. บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา 
นายกฯ ไทย-กัมพูชาร่วมแถลงข่าว พร้อมส่งเสริมความร่วมมือทุกมิติ สรุปได้ดังนี้
•    ด้านความสัมพันธ์ ยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์”ส่งเสริมศักยภาพของทั้ง2 ประเทศที่มีร่วมกัน ในปีนี้ไทยจะเปิดสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ในเมืองเสียมราฐ และกัมพูชาจะเปิดสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ในจังหวัดสงขลา
•    ด้านความมั่นคง โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังเห็นตรงกันในการกระชับความร่วมมือต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะเครือข่ายหลอกลวงทางไซเบอร์
•    ด้านเศรษฐกิจ ช่วงต้นเดือนมีนาคม ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ระดับรัฐมนตรีพาณิชย์ ครั้งที่ 7 พร้อม Quick win นำ MOU ว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าฯ ไปใช้ทันที 
•    ด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดน กระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน พร้อมยกระดับ
การเปิดจุดผ่านแดนไทย-กัมพูชาที่ยังคั่งค้าง 
•    ด้านการท่องเที่ยว การรวมจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเข้าด้วยกัน ผ่านโครงการ “6 ประเทศ 1 จุดหมายปลายทาง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค 
•    ด้านแรงงาน นายกรัฐมนตรีไทยยืนยัน ให้ความสำคัญกับการดูแลแรงงานทุกประเทศ รวมถึงชาวกัมพูชาในประเทศไทย ให้ได้รับความเป็นธรรม 
•    ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน จัดตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อจัดทำแผนความร่วมมือในการจัดตั้ง
สายด่วนแลกเปลี่ยนข้อมูลและการเตือนจุดที่มีการเผา เพื่อตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน สร้าง
ขีดความสามารถ และแบ่งปันแนวปฏิบัติในการจัดการกับการเผาในเกษตรกรรม โดยไทยได้เชิญกัมพูชาเข้าร่วมแผนปฏิบัติการ CLEAR Sky Strategy เพื่อส่งเสริมความร่วมมือการแก้ปัญหานี้
ในระดับภูมิภาค
•    สถานการณ์ในเมียนมา ไทยและกัมพูชาต่างต้องการที่จะเห็นเมียนมามีสันติสุข มั่นคง และเป็นเอกภาพ ซึ่งรัฐบาลจะแสดงบทบาทเชิงรุกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนในเมียนมา และส่งเสริมการแก้ปัญหาอย่างสันติ โดยดำเนินความร่วมมือพร้อมกับอาเซียน

เดินหน้าปราบปรามบูรณาการทุกภาคส่วน "ยกระดับความเข้มข้นทำสงครามยาเสพติด"

    (7 ก.พ. 67) กระทรวงยุติธรรม นำโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ติดตามการดำเนินงานด้านการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยกระทรวงยุติธรรมตั้งเป้าหมายในการจัดการยาเสพติดต้องเริ่มที่แหล่งต้นตอ ซึ่งมีการลักลอบนำเข้าตามแนวชายแดน การจับกุมยึดทรัพย์เครือข่ายกลุ่มนักค้า การจัดการเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง การแก้ไขปัญหาด้าน
จิตเวชจากยาเสพติด และการจัดการแหล่ง แพร่ระบาดในหมู่บ้านและชุมชน การเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ให้เข้ารับการบำบัดรักษา และการป้องกันในกลุ่มต่าง ๆ  ทุกระดับ
    ทั้งนี้ การดำเนินการต่อปัญหายาเสพติดในระดับกระทรวง กรม สำนักงาน ป.ป.ส. ได้มีการบูรณาการร่วมกับ 27 หน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกรมสรรพากร เป็นต้น เข้ามาร่วมอย่างจริงจัง ในส่วนพื้นที่ ให้มีการจัดตั้งกลไกการอำนวยการและขับเคลื่อนในพื้นที่ระดับจังหวัด มี 5 ภาคีร่วม ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ฝ่ายทหาร กอ.รมน.จังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นกลไกในการดำเนินการกำหนดแผนปฏิบัติการ 4 ลด เพื่อป้องกัน ปราบปราม แก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้กำหนดเป้าหมาย “4 ลด” ได้แก่
•    ลดความรุนแรงจากภาวะทางจิตเวชในสังคม 
•    ลดผู้เสพ/ผู้ติด 
•    ลดการค้ายาเสพติดที่แพร่ระบาดในหมู่บ้าน/ชุมชน
•    ลดปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการแพร่ระบาดยาเสพติด

รัฐบาลแก้ฝุ่น PM 2.5 วางมาตรการลงโทษตามกฎหมาย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาฝุ่น โดยมีการตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละอองให้เป็นไปตามกลไกการบริหารจัดการทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ โดยยกให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดต้นแบบ เนื่องจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ลดลง แต่ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลยังมีปริมาณฝุ่นที่ไม่ลดลง จึงเน้นย้ำทุกฝ่ายทำงานเชิงรุก ใช้กลไกและกฎหมายที่มีอยู่เพื่อกำหนดมาตรการให้เข้มข้นและเป็นรูปธรรม 

 

เปิด 5 แนวทางเข้มข้น แก้ปัญหาฝุ่นเชิงรุก 

1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รณรงค์ให้เกษตรกรเปลี่ยนการเผาเป็นฝังกลบ หากฝืนจะถูกตัดสิทธิการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐทุกรูปแบบ
2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ กำหนดมาตรการลดหรือห้ามนำเข้าสินค้าทางการเกษตรที่พิสูจน์ได้ว่ามีกระบวนการผลิตเกี่ยวข้องกับการเผา 
3. กำหนดให้ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศเขตห้ามเผา ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
4. การลงโทษปรับ กรณีการเผาที่เป็นเหตุให้รำคาญ ตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข หากมีการลักลอบนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวกับการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน ที่เกี่ยวข้องจับกุมและลงโทษตามกฎหมาย โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้มงวดกับการดูแลพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการเผา หรือลักลอบนำเข้าสินค้าที่เกิดจากการเผาจากประเทศต้นทาง หากปล่อยให้เผาหรือมีการลักลอบนำเข้าผู้ว่าฯ และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีส่วนรับผิดชอบตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
5. การสนับสนุนให้มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อให้ประชาชนรับทราบว่ารัฐบาลจริงจังกับปัญหา และมอบหมายกระทรวงเกษตรฯ ให้ความรู้เรื่องการไถกลบและผลเสียของการเผากับเกษตรกร 

 

11 มาตรการเร่งด่วนป้องกันฝุ่น PM 2.5 ปี 67  

เน้นการเตรียมความพร้อมป้องกันการเกิดฝุ่น PM 2.5 และไฟป่า ใน 3 พื้นที่แหล่งกำเนิดหลัก ได้แก่ พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่เมือง รวมถึงหมอกควันข้ามแดน
•    ควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาใน 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อลดการเกิดไฟในพื้นที่ป่าให้ได้ 50% จากปี 2566 
•    กำหนดเงื่อนไขการอนุญาตการเผาและการบริหารจัดการการเผาในพื้นที่เกษตร โดยสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่
•    นำระบบรับรองผลผลิตทางการเกษตรแบบไม่เผามาใช้กับการปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 
•    การจัดหาและสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่เหมาะสม
•    จัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และมาตรการไม่รับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ นำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปสร้างรายได้ และตั้งศูนย์รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร 
•    เพิ่มเงื่อนไขการเผาในพื้นที่ป่า/เกษตรในการนำเข้า - ส่งออกสินค้า เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน
•    พิจารณาสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจให้ภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 
•    ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 
•    เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปีและการตรวจจับควันดำ การเข้มงวดวินัยจราจร การคืนพื้นผิวจราจรบริเวณการก่อสร้างรถไฟฟ้า การลดจำนวนรถยนต์ในท้องถนนโดยเฉพาะในพื้นที่เมือง สร้างจุดจอดแล้วจร และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนใช้รถยนต์ไฟฟ้า 
•    ลดปริมาณฝุ่นละอองจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างและอื่นใด 
•    กำหนดหลักเกณฑ์ในการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

 

เกษตรฯ เร่งแก้ปัญหาลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อน และราคายางพาราตกต่ำ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศสงครามการลักลอบสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราผิดกฎหมาย ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและสูงสุดในรอบ 16 เดือน ตลอดจนมุ่งเน้นที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับยางพาราด้วยการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ โดยเฉพาะการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ ทีมปฏิบัติการพิเศษพญานาคราชทำหน้าที่เฝ้าระวังการลักลอบนำเข้ายางผิดกฎหมาย ซึ่งหากพบเบาะแสผู้กระทำผิด สามารถแจ้งหน่วยงานผู้มีอำนาจดำเนินการจับกุมทันที พร้อมทั้งให้การยางแห่งประเทศไทยบูรณาการทำงานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ตั้งจุดตรวจสินค้าเกษตร ร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในเส้นทางที่มีการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะตามแนวตะเข็บชายแดนประเทศเมียนมาด้วย

 

มาตรการปราบปรามเข้มข้น ส่งผลให้ราคายางปรับขึ้น 

ด้วยมาตรการปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อนอย่างเข้มงวดของรัฐบาล ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ทหาร และตำรวจ เป็นผลให้ราคายางพารา (ยางแผ่นรมควันชั้น 3) ตั้งแต่ต้นเดือนถึงปลายเดือนมกราคม 2567 เพิ่มขึ้นจาก กิโลกรัมละ 57 บาท เป็น 72 บาท เพิ่มขึ้น กิโลกรัมละ 15 บาท โดยชาวสวนยางทั้งประเทศกรีดยางได้ราว 14 ล้านกิโลกรัม/วัน ดังนั้น ราคาที่เพิ่มขึ้นทำรายได้ให้ชาวสวนยางเพิ่มขึ้นวันละ 210 ล้านบาท และถ้าตลอดทั้งปี ราคายางไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 72 บาท รายได้ของชาวสวนยางทั้งประเทศก็จะเพิ่มขึ้นถึงปีละ 76,650 ล้านบาท

 

รัฐบาลเตรียมรับมือภัยแล้ง และมาตรการรองรับฤดูแล้ง 66/67

ครม. เห็นชอบมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 โดยมอบหมายให้หน่วยงานดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว และรายงานให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ทราบ พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป


กำหนดมาตรการรองรับฤดูแล้ง 3 ด้าน 9 มาตรการ

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมพร้อมรับมือได้ทันต่อสถานการณ์ ประกอบด้วย 
•    ด้านน้ำต้นทุน (Supply)
-    มาตรการที่ 1 เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรองพร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
-    มาตรการที่ 2 ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
•    ด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand)
-    มาตรการที่ 3 กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรัง สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรเตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง  (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
-    มาตรการที่ 4 บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด (ตลอดฤดูแล้ง)
-    มาตรการที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำและลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
-    มาตรการที่ 6 เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ (ตลอดฤดูแล้ง)
•    ด้านการบริหารจัดการ (Management)
-    มาตรการที่ 7 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน (ตลอดฤดูแล้ง)
-    มาตรการที่ 8 สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
-    มาตรการที่ 9 ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน (ตลอดและหลังจากสิ้นสุดฤดูแล้ง)


จัดทำโครงการเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง

การจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 แก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ขาดแคลนน้ำหรือเสี่ยงภัยแล้ง ส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และการจ้างแรงงานให้กับประชาชน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง รวมถึงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
•    การซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ 
•    การปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ 
•    การสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค/บริโภค 
•    การเพิ่มน้ำต้นทุน เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง 
•    การเตรียมความพร้อมเครื่องมือเครื่องจักร


ทั้งนี้ การดำเนินการมาตรการและโครงการดังกล่าว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการให้ สทนช. ทราบทุกวันที่ 5 ของเดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไปจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง เพื่อให้การขับเคลื่อนตามมาตรการเป็นไปตามแผนและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนงานโครงการและความพร้อมของโครงการให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ 5 ประเภทของโครงการฯ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ทันต่อสถานการณ์และเป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย
นายกฯ ห่วงภัยแล้ง กระทบภาคการเกษตร และน้ำกิน น้ำใช้


นายกฯ สั่งการให้กรมชลประทานรายงานสถานการณ์การกักเก็บน้ำ สำหรับช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง พร้อมทั้งรณรงค์ขอความร่วมมือไม่ให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังเพิ่มเติม เพราะจะส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรได้ และสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานร่วมกับจังหวัด ประชาสัมพันธ์รณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปรังเพิ่มเติม และให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนในกรณีเกิดสถานการณ์ภัยแล้ง  

 
นายกฯ แถลงผลสำเร็จการแก้ไขหนี้ทั้งระบบ ไกล่เกลี่ยสำเร็จกว่า 57% มูลหนี้ลดลงกว่า 670 ล้านบาท ชื่นชมทุกหน่วยงานร่วมแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือ ปชช. อย่างจริงจัง

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะ ร่วมแถลงข่าวแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
•    รัฐบาลกำหนดดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) การแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน ประกอบด้วย 3 ประการ ได้แก่ 
1) หนี้สินที่ได้รับการแก้ไขต้องครอบคลุมทั้งหนี้นอกระบบ และหนี้ในระบบ 
2) เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่มีการลงทะเบียนครบถ้วนจะต้องได้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 100% 3) ลูกหนี้ที่ผ่านการไกล่เกลี่ยแล้วทุกรายจะได้รับการพิจารณาสินเชื่อ หรือปรับโครงสร้างหนี้ และได้รับการพื้นฟูศักยภาพในการหารายได้
•    มอบภารกิจให้กระทรวงมหาดไทยมีบทบาทในกระบวนการไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีบทบาทในการดำเนินคดีอาญา หากเจ้าหนี้มีพฤติการณ์ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง และกระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นแหล่งเงินทุนช่วยเหลือลูกหนี้ที่ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 
•    ผลการแก้หนี้นอกระบบ ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 มีลูกหนี้ลงทะเบียนกว่า 140,000 ราย ยอดมูลหนี้รวมทั้งสิ้นกว่า 9,800 ล้านบาท สามารถเข้ากระบวนการไกล่ได้ 21,000 ราย และไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 12,000 ราย คิดเป็น 57% ของจำนวนที่เข้าสู่กระบวนการ (มูลหนี้ลดลงกว่า 670 ล้านบาท 

รัฐบาลเร่งแก้หนี้ให้ประชาชน ผ่านบันได 4 ขั้น

กระทรวงมหาดไทยในฐานะที่เป็นบันไดขั้นแรกของการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ยังคงต้องเร่งปฏิบัติงานเชิงรุก เร่งหาตัวเจ้าหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้ให้บรรลุผลมากที่สุด และเพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อขอเข้าร่วมการแก้หนี้ได้สะดวกขึ้น ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาจัดกิจกรรมตลาดนัดแก้หนี้ ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการในทุกจังหวัดเรียบร้อยแล้ว โดยให้จัดอย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้ง

บันไดขั้นที่สอง มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติระดมกวาดล้างผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ และรับจำนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์โดยผิดกฎหมาย ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการแล้ว 2 ครั้ง สามารถจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิดมากกว่า 1,300 ราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 40 ล้านบาท 

บันไดขั้นที่สาม ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ความช่วยเหลือด้านการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ลูกหนี้ผ่านการไกล่เกลี่ยมาแล้ว เพื่อให้สามารถพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เพิ่ม และไม่ต้องกลับมาเป็นหนี้นอกระบบซ้ำ ซึ่งปัจจุบันธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. มีมาตรการสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้นอกระบบหลายมาตรการด้วยกัน 

และบันไดขั้นสุดท้าย คือ การสร้างรายได้เพิ่ม ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องร่วมกันเสริมทัพ เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน หาอาชีพ และสร้างรายได้เพิ่มให้กับประชาชน 


ในส่วนของหนี้ในระบบนั้น นายกฯ แบ่งกลุ่มลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม บางกลุ่มได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว แต่บางกลุ่มยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จ 
•    กลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ลูกหนี้กลุ่มนี้ได้รับการช่วยเหลือ โดยปิดบัญชีหนี้เสียแล้ว มากกว่า 630,000 บัญชี มูลหนี้กว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้มีสถานะปกติในระบบเครดิตบูโร และเข้าสู่ระบบการเงินได้ อีกทั้งยังมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ SMEs แล้ว กว่า 10,000 ราย มูลหนี้กว่า 5,000 ล้านบาท
•    กลุ่มที่ 2 คือ ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีหนังสือขอความร่วมมือให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่สูงจนเกินไป ไม่ควรเกินร้อยละ 4.75 ซึ่งมีสหกรณ์ออมทรัพย์กว่า 80 แห่ง ทยอยลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาแล้ว คาดสมาชิกสหกรณ์ได้ประโยชน์กว่า 3,000,000 ราย นอกจากนี้ ลูกหนี้บัตรเครดิตได้เข้าร่วมปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในโครงการคลินิกแก้หนี้แล้ว มากกว่า 150,000 บัญชี
•    กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง เกษตรกรได้รับการพักชำระหนี้แล้วกว่า 1,800,000 ราย มูลหนี้รวมกว่า 250,000 ล้านบาท ลูกหนี้ กยศ. ได้ติดต่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 600,000 ราย ซึ่ง กยศ. สามารถลดหรือปลดหนี้ให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ได้
•    กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่มีหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินมาเป็นระยะเวลานาน โดยปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีหลักเกณฑ์การร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินกับบริษัทบริหารสินทรัพย์แล้ว และจะขยายหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งธนาคารออมสินอยู่ระหว่างเจรจาผู้ร่วมทุน เพื่อเตรียมจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2567 เมื่อการจัดตั้งแล้วเสร็จลูกหนี้กลุ่มนี้จะสามารถโอนขายไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้การช่วยเหลือแบบผ่อนปรนต่อไป 


“ทั้งนี้ หากลูกหนี้ท่านใดประสบปัญหาหนี้นอกระบบสามารถลงทะเบียนขอแก้หนี้นอกระบบได้ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตทุกแห่ง หรือผ่านช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากลูกหนี้ประสบปัญหาหนี้ในระบบ ขอให้อย่ารอจนกลายเป็นหนี้เสีย ขอให้รีบเข้าไปหาสถาบันการเงิน เพื่อขอคำปรึกษา ขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งสถาบันการเงินเจ้าหนี้มีมาตรการที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาของแต่ละคนที่แตกต่างกัน” นายกฯ ย้ำ


image รูปภาพ
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar