แลนด์บริดจ์ กับโอกาสของไทย

“แลนด์บริดจ์” อภิมหาโปรเจ็กต์ 1 ล้านล้านบาท เปิดประตูสู่การค้านานาชาติ
     โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมที่รัฐบาล “เศรษฐา” ให้ความสำคัญและพร้อมที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ ให้เชื่อมต่อกันแบบไร้รอยต่อ ส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้มีความทันสมัย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาชาติ ซึ่งเป็นการลงทุนแบบ PPP หรือการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยให้สิทธิแก่เอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี และกำหนดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งโครงการ ประกอบด้วย 
•    สร้างท่าเรือชุมพร (แหลมริ่ว อ.หลังสวน) ให้เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ทันสมัย เพื่อพัฒนาให้เป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย 
•    พัฒนาท่าเรือระนอง (แหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด) ให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์และเป็นประตูการค้าฝั่งอันดามัน เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือกลุ่มประเทศแถบเอเชียใต้ BIMSTEC ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
•    พัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และรถไฟทางคู่ ระยะทาง 90 กิโลเมตร ช่วงจังหวัดชุมพร – ระนอง
เดินหน้าโรดโชว์ เพื่อดึงดูดการลงทุนต่างชาติ พร้อมลงพื้นที่รับฟังความเห็นประชาชน
     ขณะนี้ความคืบหน้าของโครงการแลนด์บริดจ์อยู่ในขั้นตอนของการโรดโชว์ ซึ่งนายกฯ ได้ไปพูดคุยกับนักลงทุนมา 3 แห่ง คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ศึกษาไว้เบื้องต้นไปนำเสนอกับผู้ที่สนใจจะมาลงทุนในโครงการนี้ 
     ซึ่งมีนักลงทุนจากหลายประเทศต่างให้ความสนใจโครงการเป็นอย่างมาก อาทิ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศฝั่งตะวันออกกลาง และสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น

ชาวบ้านคัดค้าน วอนรัฐบาลรับฟังผลกระทบจากแลนด์บริดจ์
     ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ จากลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นโครงการแลนด์บริดจ์มีประชาชนกลุ่มหนึ่งคัดค้าน โดยให้เหตุผล 4 ประเด็น ดังนี้
•    ไม่คุ้มค่าการลงทุน : ไม่ตอบโจทย์นักเดินเรือ ไม่ตอบโจทย์ผู้ขนส่ง
•    ไม่เหมาะสม : กระทบต่อระบบนิเวศ ธรรมชาติ และพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน
•    ไม่โปร่งใส ขาดธรรมาภิบาล : ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเลือกที่จะเอาใครก็ได้มาแสดงความคิดเห็น
•    โครงการแลนด์บริดจ์อยู่ภายใต้กฎหมาย SEC : มีเนื้อหาสอดคล้องกับ EEC โดยมีนักการเมืองบางกลุ่มพยายามผลักดันเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และมองว่ากระทบต่อคนในพื้นที่ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง 

ทามไลน์การดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์
     สำหรับระยะเวลาการขับเคลื่อนโครงการนี้หลังจากที่ ครม.เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการแล้วรัฐบาลจะเริ่มจาก 
•    โรดโชว์ลงทุนโครงการนี้ในต่างประเทศตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2566 – มกราคม 2567 จากนั้นรัฐบาลจะเร่งรัดในเรื่องของการทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ การร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ... เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์จะอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย 
•    มีการตั้งสำนักงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการนี้ (เมื่อกฎหมายแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2567)
•    มีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน (พ.ร.ฎ.) ในโครงการจะเริ่มในเดือนมกราคม 2568 - ธันวาคม 2569
•    รัฐบาลจะเริ่มเปิดให้มีการยื่นข้อเสนอการลงทุนจากเอกชนทั่วโลกในเดือนเมษายน – มิถุนายน 2568 
•    ครม. เห็นชอบรายชื่อผู้ชนะการประมูลในโครงการภายในเดือนสิงหาคม 2568

•    เอกชนที่ชนะการประมูลเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน กันยายน 2568 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี และคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในเดือนตุลาคม 2573
ประโยชน์ของโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน จะช่วย...
•    ยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำ ของภูมิภาค (Transshipment Port)
•    เปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก
•    เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งสินค้าทางน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ 
•    ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก
•    ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน สร้างโอกาสสร้างงานและรายได้


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar