ยกเลิกครูเวร ทั่วประเทศ

     (23 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง สั่งการต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการอยู่เวรของครูทั่วประเทศ โดยให้ยกเลิกมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2542 ที่ให้มี
การมอบหมายเป็นภาระของครูในการเข้าเวรยาม เป็นมติที่ล้าหลัง ไม่ตรงกับยุคสมัย เนื่องจาก ทุกวันนี้ไม่จำเป็นจะต้องให้ครูไปเฝ้าเวรยามเพราะปัจจุบันมีเครื่องไม้เครื่องมือ และเทคโนโลยี รวมถึงบริษัทรักษาความปลอดภัย ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบยกเลิกมติดังกล่าว โดยให้หน่วยงานต่าง ๆ รับไปพิจารณาต่อไป
     ทั้งนี้ จะมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปจัดทำแนวปฏิบัติตามมติยกเลิกให้ครูอยู่เวรโรงเรียนให้รับทราบต่อไป พร้อมย้ำเมื่อครูไม่ต้องมาเข้าเวรโรงเรียนแล้ว ก็ขอให้อย่าละเลยการจัดระเบียบดูแลเรื่องการเรียนการสอนของนักเรียนให้มีคุณภาพด้วย
ใช้ครูผิดประเภท เกิดแฮชแท็ก #ยกเลิกครูเวรกี่โมง บนโลกออนไลน์
     จากเหตุการณ์ครูผู้หญิง โรงเรียนโป่งเกลือ ต.ดอยลาน อ.เมือง 
จ.เชียงราย ถูกทำร้ายร่างกายจากคนตัดต้นไม้ที่ทางโรงเรียนว่าจ้าง ในช่วงกลางวันของวันที่ 20 มกราคม 67 จนกลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกสังคมตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในชีวิตของ “ครูเวร”  และกฎเกณฑ์การเข้าเวรของครูไทย และเกิดเป็น #ยกเลิกครูเวรกี่โมง บนโลกออนไลน์ ที่ออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกเลิกกฎว่าด้วยการเข้าเวร เพื่อคืนชีวิตที่ปลอดภัย และลดภาระที่ไม่จำเป็นให้กับครูไทยทั่วประเทศ
กรุงเทพฯ แจ้ง ปรับแก้ ไม่ให้ครูมาอยู่เวรรักษาความปลอดภัยในเวลากลางคืน ตั้งแต่เดือน ก.ย. 66 แล้ว
     นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามประกาศยกเลิกครูเวร 100% ตั้งแต่ ก.ย. ปี 66 โดยให้จ้างเอกชนเข้ามาดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนได้ พร้อมระบุ ไม่เฉพาะแค่ครูเท่านั้นที่ไม่ต้องมาอยู่เวร แต่ข้าราชการที่ทำงานในศาลาว่าการกรุงเทพฯ ก็ไม่ต้องมาอยู่เช่นเดียวกัน เพราะมี รปภ. จำนวนมากคอยดูแลอยู่แล้ว
     ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หลังจากที่ ครม.มีมติยกเลิกครูเวรทั่วประเทศ นั้น ต้องถือว่าบริบทของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน เนื่องจากมีโรงเรียนแจ้งว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่เปิดรับสมัครนักเรียนใหม่ ต้องมีครูอยู่ประจำ เพราะวันเสาร์ - อาทิตย์ หากพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่คนเดียวจะไม่มีครูรับเรื่องในการรับสมัครนักเรียน ทำให้ช่วงกลางวันอาจมีบางโรงเรียนที่มีครูเวรอยู่ประจำ แต่ช่วงกลางคืนตอนนี้ เกือบทุกโรงเรียนไม่มีครูที่ต้องมาประจำแล้วหลังมีประกาศที่ผู้ว่าฯ ลงนามเมื่อเดือนกันยายน 2566 ให้จ้างเอกชนเข้ามาดูแลความปลอดภัยได้ ดังนั้น กทม.มีระเบียบรองรับแล้วในเรื่องนี้
ศธ. ขออนุมัติคืนอัตรานักการภารโรงกว่า 14,000 ตำแหน่ง 
     ครม. เห็นชอบหลักการที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้จัดทำคำขออนุมัติคืนอัตรานักการภารโรงกว่า 14,000 ตำแหน่ง  เพื่อให้ทุกโรงเรียนมีนักการภารโรงประจำ ซึ่งจะช่วยทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่โรงเรียน โดยให้กลับไปศึกษาวิเคราะห์อีกครั้งว่าจำนวนนักการภารโรงที่ขาดแคลนจริงมีตัวเลขอยู่จำนวนเท่าไหร่ และจากนั้นให้เสนอกลับมาให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า โดยเบื้องต้น  จะใช้งบประมาณในการคืนอัตรานักการภารโรงประมาณ 500 กว่าล้าน


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar